ศึกษาความหนาแน่นและช่วงฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ในมะม่วง
#1
ศึกษาความหนาแน่นและช่วงฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ในมะม่วง
เกรียงไกร จำเริญมา, ศรุต สุทธิอารมณ์, วิภาดา ปลอดครบุรี และสัญญาณี ศรีคชา
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาความหนาแน่นและช่วงฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ในมะม่วง ดำเนินการในแหล่งปลูกมะม่วง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างตุลาคม 2550 – กันยายน 2551 โดยวางกับดักแมลงวันผลไม้แบบ Steiner trap จำนวน 9 กับดัก ในพื้นที่ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,573 ไร่ ในกับดักใช้สารล่อชนิดเมทธิลยูจินอลผสมสารฆ่าแมลง malathion 57% EC อัตราส่วน 2 : 1 แขวนไว้ เก็บแมลงวันผลไม้จากกับดักทุกๆ สัปดาห์ ตรวจนับชนิดและปริมาณแล้วนำไปเขียนกราฟพบว่า ระหว่างตุลาคม 2550 – กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นมะม่วงฟักตัว เริ่มออกดอกและติดผลขนาดเล็ก ปริมาณตัวเต็มวัยแมลงวันผลไม้ชนิด Bactrocera dorsalis ติดกับดักเฉลี่ยระหว่าง 1.09 – 15.29 ตัว/กับดัก/วัน ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2551 ผลมะม่วงเริ่มแก่และสุกในช่วงนี้พบ ปริมาณตัวเต็มวัยแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis เฉลี่ย 9.68 – 44.73 ตัว/กับดัก/วัน หลังจากนั้นระหว่างมิถุนายน – กรกฎาคม 2551 ปริมาณแมลงวันผลไม้ดังกล่าวจะลดลง พบเฉลี่ย 3.48 – 6.84 ตัว/กับดัก/วัน และจะเริ่มพบปริมาณสูงขึ้นอีกในช่วงสิงหาคม – กันยายน ส่วนการศึกษาในปี 2552 ระหว่างกุมภาพันธ์ 2552 – กันยายน 2552 ทำการศึกษาจริงในสวนมะม่วง โดยวางกับดักแมลงวันผลไม้แบบ Steiner trap จำนวน 5 กับดัก/ไร่ ที่สวนมะม่วงในจังหวัดอ่างทอง และฉะเชิงเทรา ที่จังหวัดอ่างทอง พบ แมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis ติดกับดักเป็นจำนวนมากและพบสูงสุดในเดือนเมษายน 38.54 ตัว/กับดัก/วัน ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา พบสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 188.32 ตัว/กับดัก/วัน ซึ่งทั้งสองสวนผลมะม่วงอยู่ในระยะเก็บเกี่ยว สำหรับการศึกษาในปี 2553 มีการติดกับดักระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2553 พบ B. dorsalis สูงสุด 31.12 ตัว/กับดัก/วัน ในวันที่ 1 เมษายน 2553 ส่วน B. correcta พบ สูงสุด 18.79 ตัวในเดือนพฤษภาคม 2553


ไฟล์แนบ
.pdf   1580_2553.pdf (ขนาด: 918.39 KB / ดาวน์โหลด: 2,074)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม