01-05-2016, 12:47 PM
การใช้พืชสมุนไพรเพื่อควบคุมโรคแคงเกอร์ของส้มโอ
นลินี ศิวากรณ์, บูรณึ พั่ววงษ์แพทย์ และเพลินพิศ สงสังข์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
นลินี ศิวากรณ์, บูรณึ พั่ววงษ์แพทย์ และเพลินพิศ สงสังข์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
การศึกษาสมุนไพรจำนวน 33 ชนิดในการควบคุมโรคแคงเกอร์ของส้มโอซึ่งมีน้ำเป็นตัวทำละลายไปฉีดบนใบยอดของส้มโอที่ทำให้เกิดโรคด้วยการใช้เข็มทำแผลปลูกเชื้อสาเหตุโรคแคงแกอร์ (Xanthomonas campestris pv. citri) ในแปลงปลูกส้มโอ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าสมุนไพรที่ทดลองส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งหรือลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของส้มโอ ยกเว้น ปูนแดง เกลือ กระเทียม ปลาไหลเผือก และกานพลู ที่สามารถยับยั้งและลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของส้มโอได้ โดยมีสมุนไพรที่ไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตหรือไม่มีความเป็นพิษต่อใบส้มโอได้แก่ เกลือ และกระเทียม ซึ่งใช้ในอัตราส่วน 400 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตรหรือที่ความเข้มข้น 20% โดยเกลือสามารถลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของส้มโอได้ 89.62% และกระเทียมสามารถลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของส้มโอได้ 58.82% ส่วนปูนแดง ปลาไหลเผือก และกานพลูอัตราส่วนที่ใช้มีผลต่อการเจริญเติบโต เช่น ทำให้ใบเปลี่ยนรูปร่าง ใบแข็งกระด้างและไม่แตกยอดอ่อน และจากการศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรกระเทียม ปลาไหลเผือกและปูนแดง ซึ่งมีน้ำเป็นตัวทำละลายบนยอดของส้มโอที่ทำให้เกิดโรคด้วยการฉีดพ่นเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแคงแกอร์ อัตราความเข้มข้นของเชื้อ 1.179 X 10(11) โคโลนี/มล. บนยอดส้มโอที่แตกใหม่ขนาดความยาว 1.5 นิ้ว และฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรบนยอดส้มโอที่ทำการทดลองก่อนและหลังการปลูกเชื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จนกระทั่งยอดส้มโอแสดงอาการเกิดโรค จึงตรวจให้คะแนนและประเมินความรุนแรงของโรค พบว่าสารสกัดสมุนไพรจากกระเทียม สามารถยับยั้งและลดการเกิดโรคแคงเกอร์ได้ดีที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของใบยอดส้มโอ โดยให้เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของการเกิดโรคน้อยที่สุดเท่ากับ 30.20% ทำให้ความรุนแรงของโรคแคงเกอร์ของส้มโอลดลง 23.82% ในขณะที่การใช้สารเคมีคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ให้เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของการเกิดโรคเท่ากับ 51.74% ทำให้ความรุนแรงของโรคแคงเกอร์ลดลงเพียง 2.28% และกรรมวิธีเปรียบเทียบให้เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของการเกิดโรคเท่ากับ 54.02%