01-05-2016, 11:39 AM
การศึกษาโรคกล้วยไม้ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, สุรีย์พร บัวอาจ, รุ่งนภา คงสุวรรณ์, ศรีสุข พูนผลกุล และจงวัฒนา พุ่มหิรัญ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยพืชสวน
ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, สุรีย์พร บัวอาจ, รุ่งนภา คงสุวรรณ์, ศรีสุข พูนผลกุล และจงวัฒนา พุ่มหิรัญ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยพืชสวน
สำรวจโรคกล้วยไม้ที่เกิดจากแบคทีเรียในกล้วยไม้สกุลการค้าในแหล่งปลูกกล้วยไม้ 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สระบุรี นครปฐม สมุทรสาคร นครรราชสีมา นครสวรรค์ กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 ศึกษาลักษณะอาการ แยกเชื้อพิสูจน์โรค เก็บเชื้อสาเหตุโรคจำนวน 200 ไอโซเลท จำแนกเชื้อสาเหตุ ศึกษาลักษณะโคโลนีบนอาหารสังเคราะห์ ปลุกเชื้อทดสอบการเกิดโรคบนกล้วยไม้สกุลการค้า ทดสอบคุณสมบัติชีวเคมีและการใช้คาร์บอน (Biolog® test) จำแนกแบคทีเรียสาเหตุโรคโดยคุณสมบัติสัณฐานวิทยา ชีวเคมี การก่อให้เกิดโรคและการวิเคราะห์ลำดับเบสได้ 4 ชนิด ได้แก่ Burkholderia gladioli (Bg.) สาเหตุโรคเน่า อาการใบเน่าสีน้ำตาลเข้มถึงดำลามจากปลายใบและปลายยอด พบเป็นปัญหาบนกล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง (เขาแกะ) และบนม็อคคาร่า ใบเน่าชำสีน้ำตาลเข้มถึงดำลามจากบริเวณปลายใบหรือปลายยอด และพบอาการแผลจุดค่อนข้างกลมสีน้ำตาล ขอบแลช้ำ มีวงสีเหลืองล้อมรอบ แบคทีเรียก่อให้เกิดโรคได้บนกล้วยไม้ฟาแลนอปซิสและหวาย Erwinia carotovora subsp. carotovora (Ecc.) สาเหตุโรคเน่าเละ พบบนกล้วยไม้สกุลออนซิเดียมและหวาย อาการใบและลำต้นเน่าเละ เนื้อใบเปื่อยยุ่ย มีกลิ่นเหม็นฉุน E. chrysanthemi (Ech.) สาเหตุโรคเน่าเละ แพร่ระบาดทำความเสียหายมากในกล้วยไม้สกุลหวาย ฟาแลนอปซิส แวนดาสกุลช้าง ม้าวิ่ง และแคทลียา เข้าทำลายทำให้ใบเน่าช้ำเนื้อเยื่อใบเน่าและสีเขียวหรือสีน้ำตาลอ่อน ผิวใบโป่งพอง เนื้อใบเน่าและแยกจากผิวใบ ลำต้นเน่าช้ำ หักพับ ไม่มีกลิ่นเหม็นฉุนเหมือน Ecc. แพร่ระบาดรวดเร็ว และ Acidovorax avenae subsp. cattleyae สาเหตุโรคใบจุดแบคทีเรีย อาการเริ่มแรกเป็นจุดสีเขียวถึงเหลืองอ่อน ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นสีน้ำตาลถึงดำ กลางแผลเนื้อเยื่อบุบตัวเป็นแอ่ง มีวงสีเหลือง (halo) ล้อมรอบ พบเกิดโรคมากบนกล้วยไม้สกุลแวนด้า ช้าง แอสโคเซนดา อะแรนเธอร่า บนกล้วยไม้ฟาแลนอปซิส แผลจุดค่อนข้างดำไม่กลม ส่วนใหญ่แผลยุบตัวรูปหลายลักษณะ บางแผลพบเส้นสีขาวบริเวณกลางแผลที่เป็นสีดำ มีวงสีเหลืองล้อมรอบ นอกจากนี้พบโรคดอกเน่า อาการดอกตูมเน่าช้ำ กลีบดอกเป็นแผลไหม้ขอบแผลช้ำระบาดทำลายความเสียหายมากกับกล้วยไม้สกุลม็อคคาร่าในพื้นที่ องนครชัยศรี จ.นครปฐม ทำให้เกิดอาการที่ดอก ก้านช่อดอกเป็นแผลจุดช้ำรูปกระสวย ต่อมาเป็นสีน้ำตาลยุบตัวทำให้ก้านช่อดอกหักพับ แยกเชื้อได้แบคทีเรียโคโลนี กลมสีเหลืองใส ยังไม่สามารถจำแนกชนิดแบคทีเรียสาเหตุโรคได้ ทั้งนี้จากการปลูกเชื้อทดสอบพบว่า B. gladioli ทำให้เกิดโรคดอกเน่าและกลีบดอกไหม้ได้เช่นกัน แบคทีเรียนับเป็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้นในการปลุกเลี้ยงกล้วยไม้ สามารถแพร่ระบาดทำความเสียหายให้กับกล้วยไม้สกุลการค้าตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงที่สภาพอากาศร้อนฝนตกชุก ยังไม่มีสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค