ศึกษาความเสี่ยงภัยจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร cypermethrin ในแปลงปลูกคะน้า
#1
ศึกษาความเสี่ยงภัยจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร cypermethrin ในแปลงปลูกคะน้าต่อผู้ใช้และผู้บริโภค
ปรีชา ฉัตรสันติประภา, สิริพร เหลืองสุชนกุล และเอกราช สิทธิมงคล
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

           การศึกษาปริมาณสารพิษปนเปื้อนบนร่างกายผู้ฉีดพ่นวัตถุมีพิษและพืชอาหาร เพื่อประเมินความเสี่ยงภัยจาการใช้ cypermethrin ในแปลงคะน้า โดยฉีดพ่นสารพิษ cypermethrin สูตร 35% W/V EC ในอัตรา 17 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกสัปดาห์รวม 4 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มปลูกคะน้า จนถึงเวลาเก็บเกี่ยว ภายหลังการฉีดพ่นทุกครั้ง ทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารพิษ cypermethrin บนแผ่นผ้าที่ติดตามจุดต่างๆ บนร่างกายของผู้ฉีดพ่น และผู้ช่วยฉีดพ่น รวมทั้งน้ำล้างมือ-น้ำล้างเท้า และเสื้อ-กางเกงของผู้ฉีดพ่นและผู้ช่วยลากสายฉีดพ่นด้วย ผลการทดลองฉีดพ่นทั้ง 4 ครั้ง สรุปได้ว่าจุดบนร่างกายที่ผู้ฉีดพ่นมีโอกาสสัมผัสกับละอองวัตถุมีพิษมากที่สุดระหว่างการฉีดพ่นคือ บริเวณหน้าแข้งและต้นขาเฉลี่ย 215.66 และ 45.85 ไมโครกรัม/100 ตร.ซม. รองลงมาได้แก่ บ่า และข้อศอก ปริมาณที่พบเฉลี่ย 5.59 และ 4.93 ไมโครกรัม/100 ตร.ซม. ส่วนจมูก ศีรษะ หลัง และหน้าอก มีโอกาสสัมผัสกับละอองวัตถุมีพิษลดลงมาตามลำดับ ปริมาณที่พบเฉลี่ย 3.67, 3.48, 3.39 และ 2.46 ไมโครกรัม/100 ตร.ซม. ตามลำดับ สำหรับผู้ช่วยลากสายฉีดพ่น ลักษณะการปนเปื้อนบนร่างกายก็สอดคล้องคล้ายกับของผู้ฉีดพ่น เพียงแต่ปริมาณการปนเปื้อนจะพบน้อยกว่า นอกจากนี้ ได้ศึกษาปริมาณการปนเปื้อนบนมือและเท้าของผู้ฉีดพ่นและผู้ช่วยลากสายฉีดพ่น และเมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินความเสี่ยงจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร ได้ค่า MOE มากกว่า 100 ซึ่งมีความหมายว่า การใช้วัตถุมีพิษ cypermethrin ฉีดพ่นในแปลงผักคะน้ายังไม่เกินค่าความเสี่ยงภัยที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเกษตรกรผู้ฉีดพ่นและผู้ที่ปฏิบัติงานในแปลง ส่วนการศึกษาระยะเวลาการสลายตัวของสารพิษในผักคะน้า ที่ระยะเวลาต่างๆ ภายหลังการฉีดพ่นพบว่า ช่วงที่เก็บยอดผักคะน้าขาย ตรวจพบสารพิษตกค้างที่ 0, 1, 3, 5 และ 7 วัน ภายหลังการฉีดพ่นเฉลี่ย 5.11, 4.23, 2.18, 1.99 และ 1.31 มิลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ และช่วงที่ตัดต้นคะน้าขาย ตรวจพบสารพิษตกค้างที่ 0, 1, 3, 5 และ 7 วัน ภายหลังการฉีดพ่น เฉลี่ย 5.65, 3.57, 1.96, 1.49 และ 0.98 มิลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนี้ยังทำการตรวจน้ำล้างมือภายหลังการเก็บคะน้าที่ระยะเวลาต่างๆ ของผู้ที่เก็บต้นคะน้าด้วยพบว่า ช่วงที่เก็บยอดผักคะน้าขายตรวจพบสารพิษตกค้างในน้ำล้างมือที่เก็บผักระยะ 0, 1, 3, 5 และ 7 วัน ในปริมาณ 118.73, 27.00, 10.03, 5.19 และ 1.14 ไมโครกรัม และช่วงที่ตัดต้นคะน้าขายตรวจพบสารพิษตกค้างในน้ำล้างมือที่เก็บผักระยะ 0, 1, 3, 5 และ 7 วัน ในปริมาณ 100.55, 15.05, 7.18, 5.76 และ 2.08 ไมโครกรัม ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   1903 (1)_2553.pdf (ขนาด: 1.62 MB / ดาวน์โหลด: 532)
.pdf   1903 (2)_2553.pdf (ขนาด: 1.83 MB / ดาวน์โหลด: 486)
.pdf   1903 (3)_2553.pdf (ขนาด: 1.9 MB / ดาวน์โหลด: 585)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม