ศึกษาผลกระทบจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร chlorpyrifos ในแปลงปลูกพริกต่อสัตว์น้ำ พืชน้ำ
#1
ศึกษาผลกระทบจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร chlorpyrifos ในแปลงปลูกพริกต่อสัตว์น้ำ พืชน้ำ ดิน น้ำ และตะกอน
ผกาสินี คล้ายมาลา, วรวิทย์ สุจิรธรรม และประกิจ จันทร์ติ๊บ
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ทำการทดลองในแปลงปลูกพริกของเกษตรกร ที่ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างเดือนมกราคม ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยเกษตรได้ใช้ chlorpyrifos สูตร 40% W/V EC เมื่อพบการระบาดของศัตรูพืชประมาณ 2-3 ครั้งต่อฤดูปลูก ในอัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นด้วยเครื่องพ่นแบบเครื่องยนต์สะพายหลัง โดยเกษตรฉีดพ่น chlorpyrifos จำนวน 3 ครั้ง ฉีดพ่นเมื่อพริกอายุ 99, 106 และ 113 วัน ซึ่งเป็นระยะเริ่มเก็บเกี่ยว ก่อนและหลังจากฉีดพ่น chlorpyrifos ครั้งที่ 3 ได้เก็บตัวอย่างปลานิล (Oreocromis niloticus, Chitrada strain) ปลาตะเพียน (Barbonymus gonionotus common silver barb) นำมาตรวจวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างในเนื้อปลา และวัดระดับเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase activity, AChE activity) ในสมองปลา ส่วนผักกระเฉด (Neptunia oleracea Lour, water mimosa) ดิน น้ำ และตะกอน นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้างหลังการฉีดพ่น 1 ชั่วโมง (0 วัน) ถึง 30 วัน ผลการทดลองตรวจพบ chlorpyrifos ในปลานิลและปลาตะเพียนปริมาณ <LOQ -0.09 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ค่า LOQ ในปลา 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในปลาตะเพียนหลังฉีดพ่น 1 วัน ส่วนระดับ AChE activity ในสมองปลาทั้งสองชนิดลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปลาควบคุม (control) บ่งชี้ว่า ปลาได้รับผลกระทบจาก chlorpyrifos ที่ปนเปื้อนลงสู่ร่องน้ำในวันที่ฉีดพ่น หลังฉีดพ่น 1 วัน จึงมีปลาตายจำนวนมาก สำหรับผักกระเฉดในร่องน้ำแปลงพริกพบปริมาณของ chlorpyrifos <LOQ -1.32 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม (ค่า LOQ ในผักกระเฉด 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) โดยพบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในวันที่ฉีดพ่น ส่วนในดินพบปริมาณ chlorpyrifos 0.04-0.34 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในน้ำพบปริมาณ chlorpyrifos 0.02-3.47 ไมโครกรัมต่อลิตร และในตะกอนพบปริมาณ chlorpyrifos <LOQ -0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ค่า LOQ ในดิน และตะกอน 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) หลังฉีดดพ่น 30 วัน ไม่พบปริมาณสารพิษตกค้างของ chlorpyrifos ในตะกอน แต่ตรวจพบปริมาณสารพิษตกค้างในดินและน้ำในปริมาณต่ำๆ ดังนั้น การฉีดพ่น chlorpyrifos ในแปลงพริกด้วยเครื่องพ่นแบบเครื่องยนต์สะพายหลังตามอัตราและวิธีข้างต้นพบว่า เกษตรกรควรระมัดระวังความถี่ในการใช้สาร chlorpyrifos เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม


ไฟล์แนบ
.pdf   1958 (1)_2553.pdf (ขนาด: 1.14 MB / ดาวน์โหลด: 2,469)
.pdf   1958 (2)_2553.pdf (ขนาด: 1.75 MB / ดาวน์โหลด: 511)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม