ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจของยางพาราสาเหตุจากโรครากขาวในพื้นที่ปลูกยางของประเทศไทย
#1
ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจของยางพาราสาเหตุจากโรครากขาว ในพื้นที่ปลูกยางของประเทศไทย
อารมณ์  โรจน์สุจิตร, อุไร จันทรประทิน, พเยาว์ ร่มรื่นสุขารมย์, นริสา จันทร์เรือง, สโรชา กรีธาพล, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์, สุเมธ พฤกษวรุณ, วลัยพร ศศิประภา, ปราโมทย์ คำพุทธ และประภา พงษ์อุธา
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, ศูนย์วิจัยยางสงขลา, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา, ศูนย์วิจัยพืชและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, สำนักตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี, ศูนย์สารสนเทศ, ศูนย์วิจัยพืชและพัฒนาการเกษตรกระบี่  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 และศูนย์วิจัยพืชและพัฒนาการเกษตรระนอง  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7  

          โรครากขาวของยางพาราสาเหตุจากเชื้อรา Rigidoporus  microporus พบแพร่ระบาดและทำความเสียหายแก่พื้นที่ปลูกยางทั่วไป สามารถพบต้นยางเป็นโรคได้ตั้งแต่ 1-2 ปีแรกปลูก ทำให้ต้นที่เป็นโรคยืนต้นตายและเป็นแหล่งเชื้อแพร่กระจายแก่ต้นยางข้างเคียงทั้งในแถวและระหว่างแถวต่อไป ทำให้จำนวนต้นยางและผลผลิต/ไร่ลดลง การสำรวจและประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจของยางพาราสาเหตุจากโรครากขาวในพื้นที่ปลูกยาง ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของยางพาราสาเหตุจากโรครากขาวในพื้นที่ปลูกยางในปี 2551-2553 แบ่งเป็นศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนล่างและภาคตะวันออก โดยวิธีการสุ่มเก็บข้อมูลในสวนยางที่พบโรคด้วยวิธี purposive sampling observation พบว่า พื้นที่ปลูกยางภาคใต้มีการระบาดของโรครากขาวกระจายในทุกพื้นที่ทำความเสียหายแก่แปลงยางที่เป็นโรคร้อยละ 3.4-3.5 ส่วนในภาคตะวันออกพบน้อยมากทำความเสียหายแก่แปลงยางที่เป็นโรคร้อยละ 0.05-0.8 ใน จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ผลการศึกษาตามภูมิภาคมีดังนี้ 1)ศึกษาสวนยางที่เป็นโรคในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนทั้งหมด 3,340 แปลงพื้นที่ 56,296 ไร่ พบโรครากขาว โรครากน้ำตาล และโรครากแดง เป็นจำนวนสวนยางร้อยละ 94.82, 5.15 และ 0.134 มีพื้นที่เสียหายทั้งหมด 1,960 ไร่ หรือร้อย 3.48 แบ่งเป็นพื้นที่เสียหายจากโรครากขาว 1,929 ไร่ หรือร้อยละ 3.43 ของพื้นที่สวนยางที่พบโรค นอกนั้นเป็นโรครากน้ำตาลและรากแดงร้อยละ 0.054 และ 0.0035 ตามลำดับ โดยพื้นที่สวนยางใน จ.นครศรีธรรมราช มีความเสียหายจากโรครากขาวต่อพื้นที่มากที่สุดร้อยละ 4.45 รองลงมาตามลำดับ พื้นที่ จ.กระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ระนอง และ จ.ภูเก็ต มีความเสียหายต่อพื้นที่ร้อยละ 4.15, 3.81, 3.08, 3.02, 1.91 และ 1.56 สวนยางที่พบเป็นโรครากขาวมีอายุเฉลี่ย 13 ปี มีความเสียหายและมีบริเวณที่เป็นโรคเฉลี่ย 0.61 ไร่ และ 2.13 บริเวณต่อแปลง ความเสียหายของต้นยางในแต่ละบริเวณที่เป็นโรค(Y)ในภาพรวมทั้งภูมิภาคจะมากขึ้นตามอายุสวนยาง(X) ดังสมการเลขยกกำลัง Y = 1.493X1.026 (r2  = 0.983) เมื่อวิเคราะห์เป็นพื้นที่ปลูกยางของภาคใต้ตอนบนทั้งหมดจะพบว่าช่วงปี 2551-2553 มีพื้นที่เสียหายจากโรครากขาวประมาณ 31,413 ไร่ หรือคิดความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกร้อยละ 0.57 คิดเป็นมูลค่าผลผลิตยางที่สูญเสียประมาณ 848 ล้านบาท หากไม่มีการจัดการโรคในอีก 10 ปีเมื่อถึงเวลาโค่น คาดว่าจะมีพื้นที่เป็นโรคมากขึ้นถึง 113,726 ไร่ คิดเป็นมูลค่าผลผลิตสะสม 10 ปีไม่ต่ำกว่า 19,257 ล้านบาท และมูลค่าไม้ยางที่หายไปอีกประมาณ 5,200 ล้านบาท รวมมูลค่าที่สูญหายมากถึง 24,500 ล้านบาท 2)ศึกษาสวนยางเป็นโรคในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จ.สงขลา สตูล พัทลุง และตรัง จำนวน 392 แปลง เป็นพื้นที่เสียหายจากโรครากขาว รากน้ำตาล และรากแดงคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 3.41, 0.43 และ 0.43 ของพื้นที่สำรวจ โดย จ.พัทลุง พบสวนยางเป็นโรครากขาวรุนแรงมากถึงร้อยละ 8.97 ของพื้นที่สวนยางที่พบโรคราก และ 3)สวนยางเป็นโรคในพื้นที่ปลูกยางภาคตะวันออก 10,998 ไร่ พบโรครากขาวและโรครากน้ำตาล มีพื้นที่เสียหายเนื่องจากโรครากขาวใน จ.ระยอง จันทบุรี และตราด 41, 2.5 และ 1.87 ไร่คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 0.8, 0.05 และ 0.22 ของพื้นที่ที่สำรวจ ตามลำดับ โดย จ.ชลบุรี และฉะเชิงเทราไม่พบโรค หากรวมความเสียหายจากโรครากขาวในพื้นที่ปลูกยางภาคใต้ของประเทศไทยทั้งหมดในปี 2551-2553 คาดว่ามีความเสียหายเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท และภายใน 10 ปีคาดว่าประเทศไทยจะสูญเสียรายได้จากยางพาราไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท


ไฟล์แนบ
.pdf   1527_2552.pdf (ขนาด: 774.03 KB / ดาวน์โหลด: 1,551)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม