การศึกษาชนิดของแมลงวันผลไม้ ศัตรูธรรมชาติและฤดูการระบาดแมลงวันผลไม้ที่สำคัญในแหล่งปลู
#1
การศึกษาชนิดของแมลงวันผลไม้ ศัตรูธรรมชาติและฤดูการระบาดแมลงวันผลไม้ที่สำคัญในแหล่งปลูกชมพู่
สัญญาณี ศรีคชา, วิภาดา ปลอดครบุรี และเกรียงไกร จำเริญมา
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาชนิดของแมลงวันผลไม้ ศัตรูธรรมชาติ และฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ที่สำคัญในแหล่งชมพู่ ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550 - พฤษภาคม 2551 ในห้องปฏิบัติการกลุ่มกีฏวิทยาและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และแปลงปลูกชมพู่ จังหวัดนครปฐมและราชบุรี จากการสำรวจและเก็บรวบรวมผลชมพู่ที่ถูกแมลงวันผลไม้ทำลายในแหล่งปลูกจังหวัดนครปฐมและราชบุรี พบแมลงวันผลไม้สามชนิดทำลายชมพู่คือ Bactrocera dorsalis (Hendel), B. correcta (Bezzi) และ B. carambolae Drew & hancock จากการทดสอบชนิดแมลงวันผลไม้ที่เป็นศัตรูหลัก (primary pest) ของชมพู่ในห้องปฏิบัติการพบว่า B. dorsalis มีจำนวนดักแด้ต่อน้ำหนักผลที่ถุกทำลาย 100 กรัม เท่ากับ 30.73 ซึ่งมากกว่า B.correcta ดังนั้น B. dorsalis จึงถือเป็นแมลงวันผลไม้ที่เป็นศัตรูหลัก (primary pest) ในชมพู่

          การศึกษาวงจรชีวิตในห้องปฏิบัติการโดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 23.10±1.27 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 91.07±0.25 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ตัวเต็มวัยเพสเมียจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์เมื่ออายุ 8 วัน โดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือกลุ่มๆ ละ 2-3 ฟอง ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 1200-1300 ฟอง มีเปอร์เซ็นต์การฟัก 87% ระยะไข่ 42-72 ชั่วโมง เฉลี่ย 48.96±10.88 ชั่วโมง หนอนมี 3 ระยะ ระยะหนอน 6-8 วัน เฉลี่ย 6.07±0.30 วัน ระยะดักแด้ 9-10 วัน เฉลี่ย 9.21±0.41 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียอายุ 79-120 วัน เฉลี่ย 95.03±11.87 วัน และตัวเต็มวัยเพศผู้มีอายุ 86-132 วัน เฉลี่ย 97.50±9.31 วัน ตลอดวงจรชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัยของ B. dorsalis 16.75-20.75 วัน เฉลี่ย 17.80±1.34วัน

          จากการศึกษาตารางชีวิต (Life table) ในสภาพชมพู่ผลสดพบว่า หนอนวัยที่ 1 มีอัตราการตายสูงที่สุดคือ 31.03 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนอนวัยที่ 2  มีอัตราการรอดชีวิตสูงที่สุดคือ 91.67 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นยังพบว่า การรอดชีวิตในแต่ละระยะการเจริญเติบโตของแมลงวันผลไม้จะลดลงตามวัยและอายุที่มากขึ้นโดยพบว่า จากไข่มีดอกาสรอดเป็นตัวเต็มวัย 38 เปอร์เซ็นต์

          จากการศึกษาช่วงการระบาดของแมลงวันผลไม้ที่สำคัญในแปลงชมพู่ โดยการติดตั้งกับดักแมลงวันผลไม้แบบ Steiner ในแปลงที่ 1 (อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี) พบแมลงวันผลไม้ 4 ชนิด โดยพบ B. dorsalis มากที่สุดรองมาเป็น B.correcta, B. carambolae และ B. papayae ส่วนแปลงที่ 2 (อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม) พบแมลงวันผลไม้ 4 ชนิด โดบพบ B. dorsalis มากที่สุดรองมาเป็น B. correcta, B. carambolae และ B. cucurbitae นอกจากนี้ยังพบว่า ช่วงที่ชมพู่ติดผลมีการระบาดของแมลงวันผลไม้มาก และการระบาดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อชมพู่ใกล้เก็บเกี่ยว ส่วนการศึกษาระยะการเข้าทำลายชมพู่ของแมลงวันผลไม้พบว่า ชมพู่ที่อายุ 7-21 วัน ไม่พบการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ ส่วนผลชมพู่ที่อายุ 28, 35 และ 42 วัน พบการทำลายของแมลงวันผลไม้ 30, 90 และ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ นอกจากนี้พบการทำลายของหนอนแดง (fruit boring caterpillar, Meridarchis sp.) เมื่อชมพู่ที่อายุ 21 วัน และจากการสำรวจศัตรูธรรมชาติเราพบศัตรูธรรมชาติ 2 ชนิด คือ แตนเบียนหนอน Diachasmimorpha longicaudata (Ashmead) และแตนเบียนไข่ Forpius arisanus (Sonan) เข้าทำลายแมลงวันผลไม้

          จากการศึกษาหาแนวทางป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม วางแผนการทดลองแบบ RCD มี 4 กรรมวิธี 4 ซ้ำ กรรมวิธีที่ 1 ฉีดพ่นด้วยน้ำมันปิดตรเลียม (SK Enspray 99) อัตรา 60 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน กรรมวิธีที่ 2 ห่อผลด้วยถุงผ้าขนาด 12.5 x 16.5 นิ้ว กรรมวิธีที่ 3 ห่อผลด้วยถุงพลาสติกสีเขียวขนาด 8 x 16 นิ้ว และกรรมวิธีที่ 4 ห่อผลด้วยถุงพลาสติกสีขาวขนาด 7 x 15 นิ้ว ซึ่งเป็นวิธีเกษตรกรและวิธีควบคุมพบว่า จำนวนผลหลังการทดลองในกรรมวิธีที่ 2 ห่อผลด้วยถุงผ้าขนาด 12.5 x 16.5 นิ้ว มีจำนวนผลเฉลี่ยมากที่สุดคือ 3.425 ผล แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีที่ 4 ห่อผลด้วยถุงพลาสติกขาวขนาด 7 x 15 นิ้ว (วิธีเกษตรกรและวิธีควบคุม) ส่วนน้ำหนักผลเฉลี่ยพบว่า กรรมวิธีที่ 4 วิธีเกษตรกรและวิธีควบคุมมีน้ำหนักผลเฉลี่ยมากที่สุดคือ 86.093 กรัม แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีที่ 2 ห่อผลด้วยถุงผ้าขนาด 12.5 x 16.5 นิ้ว ดังนั้น จากการทดลองจะเห็นได้ว่าการห่อด้วยถุงผ้าขนาด 12.5 x 16.5 นิ้ว มีแนวโน้มให้ผลดีกว่าวิธีที่เกษตรกรใช้


ไฟล์แนบ
.pdf   1588_2553.pdf (ขนาด: 285.28 KB / ดาวน์โหลด: 847)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 8 ผู้เยี่ยมชม