การจัดการสมดุลธาตุอาหารพืชในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในชุดดินสมอทอด
#1
การจัดการสมดุลธาตุอาหารพืชในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในชุดดินสมอทอด
ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, ชลวุฒิ ละเอียด, สมฤทัย ตันเจริญ, เข็มพร เพชราภรณ์, ศิริขวัญ ภู่นา, สาธิต อารีรักษ์ และอนันต์ ทองภู่
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ความสมดุลระหว่างปริมาณธาตุอาหารที่สูญหายออกไปและปริมาณธาตุอาหารที่ใส่กลับลงไปในพื้นที่มีความสำคัญต่อการรักษาศักยภาพการผลิตพืชของดินอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงได้วิจัยเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการสมดุลธาตุอาหารพืชในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นดินด่างชุดดินสมอทอด โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block มี 3 ซ้ำๆ ละ 8 กรรมวิธี ซึ่งเป็นการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับมูลไก่ในอัตราต่างๆ เปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ย และกรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว

          ผลการทดลอง สมดุลธาตุอาหารในพื้นที่ปีที่ 1 ซึ่งไม่ได้ไถกลบเศษซากข้าวโพดพบว่า กรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยทำให้ปริมาณธาตุอาหารในพื้นที่ขาดดุลเฉลี่ยเทียบเท่า 10.9-9.4-8.4 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ หรือแม้แต่กรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมี 15-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ก็ยังทำให้ปริมาณธาตุอาหารในพื้นที่ขาดดุลเช่นกันเฉลี่ย 5.0-8.2-6.7 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ในปีที่ 2 เมื่อไถกลบเศษซากพืชพบว่า ไนโตรเจนและโพแทสเซียมในกรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยมีปริมาณเกินดุลเฉลี่ย 0.5 กิโลกรัม N ต่อไร่ และ 2.4 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ ตามลำดับ แต่ฟอสฟอรัสยังมีปริมาณขาดดุลเฉลี่ย 5.4 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ ส่วนกรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมี 15-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ทำให้ไนโตรเจนและโพแสเซียมมีปริมาณเกินดุลเฉลี่ย 8.5 กิโลกรัม N ต่อไร่ และ 6.3 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ ตามลำดับ แต่ปริมาณฟอสฟอรัสยังมีปริมาณขาดดุลเฉลี่ย 3.9 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ การใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับการใส่มูลไก่ทำให้ธาตุอาหารในพื้นที่มีค่าเกินดุลหรือมีธาตุอาหารเหลือตกค้างในดินมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวอย่างเห็นได้ชัด การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์นครสวรรค์ 2 ในชุดดินสมอทอดโดยใช้ปุ๋ยเคมี 6-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ร่วมกับมูลไก่ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ยังคงปริมาณธาตุอาหารเกินดุล โดยที่ข้าวโพดให้ผลผลิตเฉลี่ย 957 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่ากรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ย (618 กิโลกรัมต่อไร่) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่าทุกกรรมวิธี


ไฟล์แนบ
.pdf   1931_2553.pdf (ขนาด: 1.58 MB / ดาวน์โหลด: 1,725)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม