การศึกษาชนิด ชีววิทยา และประสิทธิภาพการกินของแมงมุมตัวห้ำต่อแมลงวันผลไม้ในสวนมะม่วง
#1
การศึกษาชนิด ชีววิทยา และประสิทธิภาพการกินของแมงมุมตัวห้ำต่อแมลงวันผลไม้ในสวนมะม่วง
วิมลวรรณ โชติวงศ์, เกรียงไกร จำเริญมา, พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์ และวิภาดา ปลอดครบุรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         การศึกษาชนิดแมงมุมในสวนมะม่วงโดยสำรวจและเก็บตัวอย่างแมงมุมจากสวนมะม่วงในเขตภาคกลางของประเทศ เช่น จังหวัดปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครนายก นครปฐม เป็นต้น พบแมงมุม 17 วงศ์ 50 สกุล 66 ชนิด

           การศึกษาอัตราการกินของแมงมุมชนิดต่าง ๆ ต่อแมลงวันผลไม้ Bactrocera dorsalis และ B. correcta พบว่า แมงมุมทุกชนิดที่ทำการศึกษา (37 ชนิด) กินแมลงวันผลไม้ชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ แมงมุมตาหกเหลี่ยม (Oxyopes lineatipes) โดยแมงมุมตาหกเหลี่ยมเพศเมียและเพศผู้กินแมลงวันผลไม้ B. dorsalis เฉลี่ย 7.3 และ 6.3 ตัวต่อวัน ตามลำดับ และกิน B. correcta เฉลี่ย 3.17 และ 2.77 ตัวต่อวัน ตามลำดับ แมงมุมกระโดด Hyllus diardi กิน B. correcta เฉลี่ย 6.5 ตัวต่อวัน แต่แมงมุม H. diardi มีประชากรน้อยมากในสวนมะม่วง ส่วนแมงมุมที่เหลืออีก 35 ชนิด ที่ทำการทดลองกินแมลงวันผลไม้ 2 ชนิดนี้กินแมลงวันผลไม้เฉลี่ย 0.1 - 1.48 ตัวต่อวัน

           การศึกษาเปอร์เซ็นต์ส่วนประกอบ (percent composition) ของชนิดแมงมุมบนต้นมะม่วงและวัชพืชในพื้นที่บริเวณต้นมะม่วง ได้สำรวจระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงกันยายน 2550 พบว่า บนวัชพืชจะมีปริมาณประชากรแมงมุมตาหกเหลี่ยมมากกว่าบนต้นมะม่วง ซึ่งนิเวศวัชพืชบริเวณใต้ต้นหรือรอบต้นมะม่วงเป็นนิเวศที่อยู่อาศัยหรือหลบซ่อน เมื่อมีการใช้สารปราบศัตรูพืชบนต้นมะม่วงและเป็นแหล่งที่สำคัญในการเพิ่มปริมาณแมงมุมชนิดที่สำคัญด้วย ประชากรแมงมุมตาหกเหลี่ยมจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่มะม่วงออกดอกจนสูงสุด เดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงติดผลหลังจากนั้นประชากรจะค่อย ๆ ลดต่ำลงจนถึงเดือนกันยายน

         การศึกษาอัตราการกินของแมงมุมตาหกเหลี่ยมที่อยู่ในสภาวะที่ไม่อดอาหารและอดอาหารในความหนาแน่นของแมลงวันผลไม้ (Bactrocera dorsalis) ต่างกัน พบว่า แมงมุมตัวอ่อน แมงมุมเพศเมีย และแมงมุมเพศผู้มีแบบของการกินแมลงวันผลไม้เหมือนกัน คือ เมื่อความหนาแน่นของแมลงวันผลไม้มากขึ้น แมงมุมจะกินแมลงวันผลไม้เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจนสูงถึงระดับหนึ่ง อัตราการกินเฉลี่ยต่อวันจะค่อย ๆ ลดลง แมงมุมที่อยู่และไม่อยู่ในสภาวะอดอาหาร จะมีอัตราการกินแมลงวันผลไม้ใกล้เคียงกันมาก

          การศึกษาอัตราการกินของแมงมุมตาหกเหลี่ยมที่อยู่ในสภาวะที่ไม่อดอาหาร และอดอาหารในความหนาแน่นสูงของแมลงวันผลไม้ (Bactrocera dorsalis) ต่างกัน แมงมุมตัวอ่อน แมงมุมเพศเมียและแมงมุมเพศผู้มีแบบของการกินแมลงวันผลไม้เหมือนกัน คือ เมื่อความหนาแน่นของแมลงวันผลไม้ยิ่งสูงมากขึ้น แมงมุมจะกินแมลงวันผลไม้เฉลี่ยต่อวันค่อย ๆ ลดลง แมงมุมที่อยู่และไม่อยู่ในสภาวะอดอาหาร จะมีอัตราการกินแมลงวันผลไม้ใกล้เคียงกันมาก

          การศึกษาความหิวต่ออัตราการกินแมลงวันผลไม้ (Bactrocera dorsalis) ของแมงมุมตาหกเหลี่ยม (Oxyopes lineatipes) สำหรับแมงมุมที่อยู่ในสภาวะอดอาหาร 7 วัน และ 14 วัน จะมีอัตราการกินแมลงวันผลไม้ใกล้เคียงกันมาก

          การศึกษาอัตราการกินแมลงวันผลไม้ในความหนาแน่นของแมงมุมตาหกเหลี่ยมแตกต่างกันพบว่า ถ้าความหนาแน่นของแมงมุมมากขึ้น อัตราการกินแมลงวันผลไม้ของแมงมุมจะลดลง

         การศึกษาปริมาณประชากรแมงมุมตาหกเหลี่ยมและแมงมุมทุกชนิดบริเวณวัชพืชใต้ต้นมะม่วงและริมท้องร่องในสวนมะม่วงที่ใช้และไม่ใช้สารฆ่าแมลงพบว่า ทั้งสวนที่ใช้และไม่ใช้สารฆ่าแมลงพบปริมาณประชากรแมงมุมบนวัชพืชบริเวณริมท้องร่องสูงกว่าใต้ต้นมะม่วง โดยเฉพาะสวนที่ใช้สารฆ่าแมลง ความแตกต่างระหว่างแมงมุมบนวัชพืชบริเวณริมท้องร่องจะสูงกว่าใต้ต้นมะม่วงมากกว่าสวนที่ไม่ใช้สารฆ่าแมลง


ไฟล์แนบ
.pdf   1578_2553.pdf (ขนาด: 286.09 KB / ดาวน์โหลด: 836)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม