การบริหารจัดการโรคใบหงิกเหลืองของพริก
#1
การบริหารจัดการโรคใบหงิกเหลืองของพริก
วันเพ็ญ ศรีทองชัย, อำนวย อรรถลังรอง, อุดม คำชา และสมพงษ์ สุขเขตต์
กลุ่มไวรัส และกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การทดลองพบว่าพืชอาศัยของโรคใบหงิกเหลืองพริก ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเทศ ฟักทอง มะเขือยาว cv. Pink Diana, Bonne และยาสูบใบเล็ก แต่ไวรัสไม่ถ่ายทอดไปยังแตงกวาบางพันธุ์ วัชพืชที่อยู่รอบแปลงปลูกพริก ได้แก่ สาบแร้งสาบกา ขี้กาขาว และเขียวไข่กา เป็นพืชอาศัยของไวรัสใบหงิกเหลืองพริก จากการทดสอบความต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลืองของสายพันธุ์/พันธุ์พริก พบว่า พริกหัวเรือ #13, 25 พริกพันธุ์ยอดสน ศก 110, 175 และพริกขี้หนูเลย ต้านทานต่อโรคได้ดีกว่าพริกห้วยสีทน พริกจินดา และพริกขี้หนู #5 และวางแผนทดสอบความต้านทานของพริกพันธุ์ที่มีแนวโน้มทนทาน/ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลืองในสภาพแปลงในปี 2551 - 2553 ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ใช้พริกจำนวน 10 สายพันธุ์/พันธุ์ วางแผนการทดลองแบบ Randomized complete block design (RCP) มีการบริหารจัดการศัตรูพืชโดยใช้สารเคมีที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ โดยมีพริกขี้หนูกาญจนบุรี ซึ่งค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคนี้เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ในปี 2551 เริ่มประเมินการเข้าทำลายของโรคโดยเริ่มพบต้นพริกแสดงอาการใบหงิกเหลืองบริเวณรอบนอกของแปลงปลูกใน 1 เดือนหลังย้ายปลูกความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นในเดือนที่ 2 - 5 และในเดือนที่ 6 พบว่า ทุกสายพันธุ์เป็นโรคในระดับ 4 คือ แสดงอาการของโรค 100% และต้นแคระแกร็น ผลการประเมินความรุนแรงของโรคในเดือนที่ 5 พบว่า สายพันธุ์พริกที่มีแนวโน้มทนทานต่อโรค คือ CV 3-14, CV 7-5, หัวเรือเบอร์ 13 และพริกขี้หนูเลย ศก. 40-2 สายพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค คือ ยอดสน ศก. 119-1, ศก 165-1, จินดา ศก. 24 และพริกขี้หนูกาญจนบุรี เบอร์ 5 สำหรับพันธุ์จินดา ศก. 24 ให้ผลผลิตสูงแม้จะอ่อนแอต่อโรค แต่ในปี 2552 ไม่พบการระบาดของโรคนี้ในช่วง 2 เดือน หลังย้ายปลูก แต่เริ่มพบการระบาดของโรคใบหงิกเหลืองในเดือนที่ 3 บนพันธุ์หัวเรือ #13 และจินดา ศก. 19-1 น้อยมาก ไม่ถึง 1% แต่กลับพบการระบาดอย่างรุนแรงของโรคจุดวงแหวนที่เกิดจากทอสโพไวรัส (Tospovirus) บนพริกทุกพันธุ์ที่ปลูกทดสอบ โดยพริกแสดงอาการจุดวงแหวนสีเขียวอ่อนบนใบ ซึ่งโรคนี้ระบาดโดยมีเพลี้ยไฟเป็นพาหะนำโรคและมีพืชอาศัยกว้าง แต่อัตราการเกิดโรคที่เกิดจากทอสโพไวรัสบนพริกทุกพันธุ์ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และพันธุ์ที่ให้ผลผลิตทั้งน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งสูงสุด ได้แก่ พันธุ์จินดา ศก. 24, พันธุ์จินดา ศก. 19-1 และพันธุ์ CV 7-5 สำหรับปี 2553 พบการระบาดของโรคใบหงิกเหลืองประปรายในพริกทุกพันธุ์ และพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง คือพันธุ์ CV 7-5


ไฟล์แนบ
.pdf   1740_2553.pdf (ขนาด: 116.02 KB / ดาวน์โหลด: 2,243)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม