การใช้ไรตัวห้ำควบคุมเพลี้ยไฟและไรศัตรูพืช
#1
การใช้ไรตัวห้ำควบคุมเพลี้ยไฟและไรศัตรูพืช
มานิตา คงชื่นสิน, เทวินทร์, กุลปิยะวัฒน์ เชาวน์วัฒนวงศ์ และพลอยชมพู กรวิภาสเรือง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ไรเป็นศัตรูที่สำคัญของกุหลาบ ซึ่งเป็นไม้ดอกไม้ประดับเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย การใช้ไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans) เป็นวิธีการที่สามารถควบคุมไรศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทดแทนการใช้สารฆ่าไรได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาวิธีการใช้ไรตัวห้ำชนิดนี้ในแปลงปลูกกุหลาบขนาดใหญ่ งานวิจัยนี้จึงได้ทำการทดสอบการควบคุมไรแมงมุมคันซาวา Tetranychus kanzawai Kishida บนกุหลาบปลูกในโรงเรือน โดยวิธีการปล่อยไรตัวห้ำเปรียบเทียบกับวิธีควบคุมไรโดยการพ่นสารฆ่าไร ดำเนินการทดลองที่ไร่กุหลาบของเกษตรกร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 – ตุลาคม 2551 พบว่า การปล่อยไรตัวห้ำในอัตรา 9 - 10 ตัวต่อต้น ทุก 2 - 3 สัปดาห์ สามารถควบคุมประชากรไรแมงมุมคันซาวาได้สำเร็จ ประชากรไรแมงมุมคันซาวาในแปลงทดลอง ปล่อยไรตัวห้ำมีจำนวนน้อยกว่าและแตกต่างทางสถิติจากแปลงพ่นสารฆ่าไร เพื่อประหยัดจำนวนการใช้ไรตัวห้ำ ในปีต่อมาจึงได้ทำการทดสอบการใช้ไรตัวห้ำ A. longispinosus ในอัตรา 3 - 4 ตัวต่อต้น เพื่อควบคุมไรแมงมุมคันซาวาและไรสองจุด Tetranychus urticae Koch ดำเนินการในแปลงกุหลาบ ณ สถานที่เดิมระหว่างเดือนตุลาคม 2551 – กันยายน 2552 พบว่า การปล่อยไรตัวห้ำอัตรา 3 - 4 ตัวต่อต้น ทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 4 เดือน โดยมีการพ่นสารฆ่าไรที่เฉพาะเจาะจง (fenbutatin oxide 55% SC) จำนวน 2 ครั้ง หลังเริ่มปล่อย ในช่วง 9 - 10 สัปดาห์แรก ซึ่งเป็นช่วงที่ไรตัวห้ำกำลังอยู่ในระยะตั้งตัว และเป็นช่วงการระบาดของไรศัตรูกุหลาบทั้ง 2 ชนิด (เดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์) หลังจากนั้นการปล่อยไรตัวห้ำเพียงเดือนละ 1 ครั้ง สามารถควบคุมไรศัตรูกุหลาบได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งปี จากการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า สามารถใช้ไรตัวห้ำ A. longispinosus ปล่อยร่วมในระบบการใช้สารฆ่าแมลงชนิดอื่น ๆ ของกุหลาบได้ ผลการทดลองในปี 2553 ยืนยันว่า การใช้ไรตัวห้ำปล่อยในแปลงปลูกกุหลาบสามารถควบคุมไรกุหลาบได้แบบยั่งยืน เกษตรกรสามารถพ่นสารที่ผ่านการทดสอบว่าปลอดภัยหรือมีพิษน้อยต่อไรตัวห้ำ ในการป้องกันกำจัดศัตรูกุหลาบชนิดอื่น เช่น เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว หนอนกระทู้ และโรคราแป้งได้เป็นปกติโดยไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย แสดงให้เห็นว่า ไรตัวห้ำ A. longispinosus สามารถควบคุมไรศัตรูกุหลาบ ทดแทนการใช้สารฆ่าไรโดยวิธีการผสมผสานการใช้ไรตัวห้ำร่วมในระบบการใช้สารฆ่าแมลง และโรคชนิดอื่น ๆ ของกุหลาบได้อย่างยั่งยืน


ไฟล์แนบ
.pdf   1616_2553.pdf (ขนาด: 734.07 KB / ดาวน์โหลด: 6,543)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม