ยางพาราพันธุ์ "เฉลิมพระเกียรติ 984"
#1
ยางพาราพันธุ์ "เฉลิมพระเกียรติ 984"
กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข, นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์, กัลยา ประพาน, กฤษดา สังข์สิงห์, อารมณ์ โรจนสุจริต, รชต เกงขุนทด, พรรษา อดุลยธรรม และวิภาวี พัฒนกุล
ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา, ศูนย์วิจัยยางหนองคาย, ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตพืชบุรีรัมย์, ศูนย์วิจัยยางสงขลา และสถาบันวิจัยยาง
 
          การปรับปรุงพันธุ์ยางมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง มีลักษณะรองที่ดี เช่น การเจริญเติบโตดี ต้านทานโรคที่สำคัญ ปรับตัวได้ดี เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2535 โดยดำเนินงานผสมพันธุ์ยางที่ศูนย์วิจัยฉะเชิงเทรา ได้ต้นกล้าลูกผสมจำนวน 2,175 ต้น นำลงปลูกในแปลงคัดเลือกพันธุ์ยางเบื้องต้น คัดเลือกได้ต้นกล้าลูกผสมระหว่างพันธุ์ PB 5/51 กับ RRIC 101 ที่ปลูกในลำดับที่ 1396 (RRI-CH-35-1396 เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยยาง 408 ในปี พ.ศ. 2545 และเปลี่ยนชื่อเป็นเฉลิมพระเกียรติ 984 ในปี พ.ศ. 2554) นำไปปลูกในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ยางขั้นต้น ขั้นปลาย และทดสอบพันธุ์ยาง ในระหว่างปี พ.ศ. 2539-2546 ผลการทดลองพบว่า พันธุ์ยางเฉลิมพระเกียรติ 984 ให้ผลผลิตเนื้อยางแห้งสูงมาก มีค่าเฉลี่ย 329.6 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มากกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ RRIM 600 ที่ให้ผลผลิต 235.1 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 53 การเจริญเติบโตระยะก่อนเปิดกรีดดี ทำให้เปิดกรีดได้เร็ว โดยมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นโตกว่าพันธุ์ RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 7-10 และมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นที่เพิ่มแต่ละปีระหว่าง 6.0-8.2 สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 8-15 มีขนาดลำต้นสม่ำเสมอกันดี ทำให้มีจำนวนต้นยางที่สามารถเปิดกรีดได้มากตั้งแต่ปีแรกของการเปิดกรีด มีเปลือกหนา จำนวนวงท่อน้ำยางมาก ต้านทานโรคราแป้งและใบร่วงไฟทอฟธอราในระดับปานกลาง มีจำนวนต้นเสียหายจากภาวะแห้งแล้งน้อย มีลักษณะรูปทรงลำต้นตรง ลักษณะกลม การแตกกิ่งสมดุลย์ในระดับสูง ทำให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น ลาดชัน มีระดับน้ำใต้ดินสูง มีข้อจำกัดคือ ไม่เหมาะสมสำหรับการใช้ระบบกรีดยางที่มีจำนวนวันกรีดมาก เพราะต้นยางจะเกิดอาการเปลือกแห้งได้ง่าย จากการทดลองดังกล่าวนี้กล่าวได้ว่า พันธุ์ยางเฉลิมพระเกียรติ 984 เป็นพันธุ์ยางที่มีลักษณะสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์ และมีศักยภาพในการแนะนำพันธุ์ให้เป็นหนทางเลือกอีกด้านหนึ่งของเกษตรกรในการพิจารณาเลือกปลูกยางพาราเพื่อเอาผลผลิตน้ำยาง ซึ่งได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นจากชั้น 2 ในคำแนะนำพันธุ์ยางปี พ.ศ. 2550 เป็นพันธุ์ยางชั้น 1 ในคำแนะนำพันธุ์ยางปี พ.ศ. 2554


ไฟล์แนบ
.pdf   1797_2553.pdf (ขนาด: 875.69 KB / ดาวน์โหลด: 604)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม