ปฎิริยาพันธุ์ข้าวโพดต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่
#1
ปฎิริยาพันธุ์ข้าวโพดต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่
พีระวรรณ พัฒนวิภาส, ศิวิไล ลาภบรรจบ, พิเชษฐ์ กรุดลอยมา และสุริพัฒน์ ไทยเทศ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

          โรคใบไหม้แผลใหญ่ที่เกิดจากเชื้อรา Exserohilum turcicum (Pass.) Leonard & Suggs. เป็นปัญหาสำคัญต่อการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานต่อโรคเป็นงานหนึ่งในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดซึ่งมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อจำแนกระดับความต้านทานของข้าวโพดแต่ละสายพันธุ์ และนำพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคมาใช้ประโยชน์เป็นแหล่งพันธุกรรมในการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการคัดเลือกพันธุ์ดีเสนอเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร สำหรับแนะนำให้เกษตรกรปลูกเพื่อลดความเสียหายจากการระบาดของโรค ในปี 2551 - 2553 ได้นำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ 12 สายพันธุ์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ดีเด่นทนทานแล้งที่จะนำไปทดสอบและประเมินผลในระดับการเปรียบเทียบในท้องถิ่นจำนวน 18 พันธุ์ และพันธุ์การค้า 3 พันธุ์ มาประเมินความต้านทานต่อโรคภายใต้สภาพที่มีการระบาดของโรคจากแถวแพร่เชื้อ โดยมีพันธุ์ไฮบริกซ์ 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบอ่อนแอต่อโรค ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ เมื่อข้าวโพดอายุ 80 วัน ให้คะแนนการเกิดโรค 1 - 5 เมื่อ 1 หมายถึง มีพื้นที่ใบเป็นโรคน้อย และ 5 คือ มีพื้นที่ใบเป็นโรคมาก ผลการประเมินการเกิดโรคใบไหม้แผลใหญ่ ในปี 2551 - 2553 พบว่า ข้าวโพดลูกผสมดีเด่นทนทานแล้งจากศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และลูกผสมพันธุ์การค้ารวม 21 พันธุ์ สามารถจำแนกปฏิกิริยาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ต้านทานต่อโรค 5 พันธุ์ ต้านทานต่อโรคปานกลาง 16 พันธุ์ ในปี 2552 - 2553 ข้าวโพดสายพันธุ์แท้รวม 12 สายพันธุ์ จำแนกปฏิกิริยาต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่ออกเป็น 1 กลุ่ม คือ ต้านทานต่อโรคปานกลางทั้ง 12 สายพันธุ์


ไฟล์แนบ
.pdf   1594_2553.pdf (ขนาด: 94.64 KB / ดาวน์โหลด: 1,508)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม