การศึกษาชนิดราไมโคไรซากล้วยไม้ใกล้สูญพันธุ์และการใช้ประโยชน์ราในการเพาะกล้วยไม้
#1
การศึกษาชนิดราไมโคไรซากล้วยไม้ใกล้สูญพันธุ์และการใช้ประโยชน์ราในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้
พรพิมล อธิปัญญาคม, ชนินทร ดวงสอาด, สุภาภรณ์ สาชาติ และจงวัฒนา พุ่มหิรัญ
กล่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสถาบันวิจัยพืชสวน

          รวบรวมและจำแนกชนิดของราไมคอร์ไรซากล้วยไม้ใกล้สูญพันธุ์ โดยเก็บตัวอย่างรากกล้วยไม้จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ กะเรกะร่อนอินทนนท์ รองเท้านารีขาวสตูล รองเท้านารีฝาหอย รองเท้านารีสุขะกุล รองเท้านารีเหลืองกระบี่ รองเท้านารีเหลืองปราจีน รองเท้านารีอินทนนท์ สิงโตกลอกตา และเอื้องปากนกแก้ว ที่จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ และอุบลราชธานี จำนวน 25 ตัวอย่าง แยกได้ราทั้งหมด 22 isolates โดยทำการแยกราจากเส้นใยที่เจริญอยู่ในเซลล์ชั้นคอรเท็กซ์ของรากกล้วยไม้ ซึ่งสามารถจำแนกชนิดราไมคอร์ไรซาเป็นรา Rhizoctonia – like fungi 4 ชนิด ได้แก่ Ceratorhiza goodyerae - repentis, Epulorhiza calendulina, Epulorhiza repens, Tulasnella sp. ราไมคอร์ไรซากล้วยไม้ที่แยกได้ทุกชนิดมีนิวเคลียส 2 อัน และเก็บรักษาเชื้อบริสุทธิ์ที่แยกได้ใน liquid paraffin และบน slant PDA ในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 15 องศาเซลเซียส เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาการเพาะเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ร่วมกับราไมคอร์ไรซา

           เมื่อนำราไมคอร์ไรซาทั้งหมดมาทำการคัดเลือกการเจริญเติบโตบนอาหาร oat meal agar (OMA) พบเจริญได้ดีบน OMA 4 isolates คือ C. goodyerae-repentis (RZ 0067), E. calendulina (RZ 0050), E. repens (RZ 0066) และ Tulasnella sp. (RZ 0059) เมื่อนำทั้ง 4 isolates มาทดสอบการมีประโยชน์ต่อการเพาะเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่แบบเกื้อกูลเอื้อประโยชนซึ่งกันและกัน พบว่า รา E. calendulina มีศักยภาพในการกระตุ้นให้เมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่งอกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 21 วัน และส่งเสริมให้เมล็ดพัฒนาเจริญเป็นต้นอ่อนได้ 58 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 120 วัน ซึ่งแตกต่างกับ E. repens และ Tulasnella sp. ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เมล็ดกล้วยไม้งอกได้ 85.3 และ 75.8 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 21 วัน และสามารถเจริญเป็นต้นอ่อนในเวลา 120 วัน ได้เพียง 18.5 และ 17.0 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่รา C. goodyerae repentis และกรรมวิธีเพาะเมล็ดที่ไม่ได้ใส่ราไมคอร์ไรซา สามารถกระตุ้นให้เมล็ดงอกได้เพียง 9.5 และ 17 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับเท่านั้น ไม่สามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้และตายในที่สุด จากการทดลองนี้รา E. calendulina (RZ 0050) มีศักยภาพสูงที่สุดในการส่งเสริมการงอกและการพัฒนาเป็นต้นอ่อนของกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ และได้ต้นอ่อนที่แข็งแรงในการนำไปเพาะเลี้ยงในเรือนทดลอง ราไมคอร์ซาทั้งหมดได้เก็บรักษาเชื้อบริสุทธิ์ที่แยกได้ใน liquid paraffin และบน slant PDA ภายใต้อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ที่กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช


ไฟล์แนบ
.pdf   2319_2555.pdf (ขนาด: 451.06 KB / ดาวน์โหลด: 1,140)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม