10-28-2022, 03:11 PM
การศึกษาและพัฒนาวิธีวิเคราะห์ปุ๋ยธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมในรูปที่ในละลายน้ำได้ ผ่านโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฎิบัติการ
จรีรัตน์ กุศลวิริยะวงศ์, สงกรานต์ มะลิสอน, ญาณธิชา จิตต์สะอาด, สุภา โพธิจันทร์, พจมาลย์ ภู่สาร, จิตติรัตน์ ชูชาติ, กัญฐณา คล้ายแก้ว, กอรีอะ บิลหลี และวรรณรัตน์ ชุติบุตร
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
คำหลัก: โปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ปุ๋ยในรูปละลายน้ำ ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม
จรีรัตน์ กุศลวิริยะวงศ์, สงกรานต์ มะลิสอน, ญาณธิชา จิตต์สะอาด, สุภา โพธิจันทร์, พจมาลย์ ภู่สาร, จิตติรัตน์ ชูชาติ, กัญฐณา คล้ายแก้ว, กอรีอะ บิลหลี และวรรณรัตน์ ชุติบุตร
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร ได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับปุ๋ยที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดรับแจ้งปุ๋ยเคมีธาตุอาหารองในรูปที่ละลายน้ำ ประกอบด้วย แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมในรูปที่ละลายน้ำ ประกอบด้วย เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โบรอน และโมลิบดินัม ดังนั้น กลุ่มวิจัยเกษตรเคมีในฐานะหน่วยให้บริการวิเคราะห์ ตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย จึงได้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ยธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมในรูปที่ละลายน้ำ เพื่อศึกษาวิธีวิเคราะห์ และพัฒนาห้องปฏิบัติการให้มีความพร้อม ดำเนินการตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึงกันยายน 2564 ทำการเตรียมตัวอย่างทดสอบโดยนำตัวอย่างปุ๋ยเคมีปั้นเม็ด 4 กิโลกรัม บดให้ละเอียด ร่อนผ่านตะแกรงขนาด 40 เมช บรรจุใส่ขวดๆ ละประมาณ 30 กรัม โดยตัวอย่างปุ๋ยที่เตรียมขึ้น ต้องผ่านการพิสูจน์ทางสถิติว่ามีความเป็นเนื้อเดียวกัน และความเสถียรเพียงพอที่ใช้ตัวอย่างปุ๋ยทดสอบในโปรแกรมทดสอบความชำนาญ กำหนดวิธีทดสอบใช้วิธีสกัดแคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก สังกะสี แมงกานีส ทองแดง โบรอน และโมลิบดินัมที่ละลายน้ำได้ในตัวอย่างปุ๋ยเคมีโดยการเขย่า เพื่อให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้หลังจากนั้นให้ปรับสารละลายตัวอย่างที่ได้ให้มีสภาวะเป็นกรด(Acidification) แล้วนำไปหาปริมาณด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ การประเมินความชำนาญห้องปฏิบัติการโดยนำผลการทดสอบที่ผู้เข้าร่วมโปรแกรมส่งกลับมาภายในกำหนดเวลามาประเมิน โดยใช้คะแนนมาตรฐาน (z score) พบว่า ผู้เข้าร่วมโปรแกรมมีผลการทดสอบเป็นที่ยอมรับ (z score น้อยกว่า 2.0) ร้อยละ 58.6 ในรายการทดสอบแคลเซียมที่ละลายน้ำ ร้อยละ 72.4 ในรายการทดสอบแมกนีเซียมที่ละลายน้ำ ร้อยละ 92.0 ในรายการทดสอบกำมะถันที่ละลายน้ำ ร้อยละ 82.8 ในรายการทดสอบเหล็กที่ละลายน้ำ ร้อยละ 76.9 ในรายการทดสอบแมงกานีสที่ละลายน้ำ ร้อยละ 88.5 ในรายการทดสอบสังกะสีที่ละลายน้ำ ร้อยละ 71.4 ในรายการทดสอบทองแดงที่ละลายน้ำ ร้อยละ 83.3 ในรายการทดสอบโบรอนที่ละลายน้ำ ร้อยละ 80.0 ของผู้เข้าร่วมโปรแกรมทั้งหมดที่ทดสอบโมลิบดินัมที่ละลายน้ำ ตามลำดับ ซึ่งผู้เข้าร่วมโปรแกรมที่มีผลการทดสอบไม่เป็นที่ยอมรับ (z score มากกว่า 3.0) ควรตรวจสอบเทคนิคการเตรียมตัวอย่างให้มีลักษณะเนื้อสารใกล้เคียงกับสารละลายมาตรฐาน วิธีการวิเคราะห์ที่ใช้ให้เหมาะสม เนื่องจากเครื่องมือแต่ละชนิดมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ ดังนั้น จึงควรตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบก่อนนำมาใช้งาน ซึ่งการจัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญ ทำให้ห้องปฏิบัติต่างๆ พัฒนาศักยภาพ และยกระดับความสามารถของห้องปฏิบัติการของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการในการในการบังคับใช้กฎหมายของกรมวิชาการเกษตร ทั้งยังสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในกำหนดส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์ที่เหมาะสมของวิธีทดสอบของประเทศไทยต่อไป
คำหลัก: โปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ปุ๋ยในรูปละลายน้ำ ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม