พัฒนาและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์โบรอนในพืชด้วยเทคนิคอินดักทีพลีคัพเปิลพลาสมา
#1
พัฒนาและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์โบรอนในพืชด้วยเทคนิคอินดักทีพลีคัพเปิลพลาสมาสเปคโตรเมทรี
สุวลักษมิ์ ไชยทอง, สุภานันทน์ จันทร์ประอบ และสาธิดา โพธิ์น้อย
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          พัฒนาวิธีวิเคราะห์โบรอนในพืชด้วยเทคนิคอินดักทีพลีคัพเปิลพลาสมาสเปคโตรเมทรี ตามวิธี Handbook of Methods for Plant Analysis โดยศึกษาสภาวะของการวิเคราะห์ และศึกษาผลของ Matrix effects ต่อการวิเคราะห์โบรอนในพืช พบว่าสภาวะที่เหมาะสมของการวิเคราะห์โบรอนด้วยเทคนิคอินดักทีพลีคัพเปิลพลาสมาสเปคโตรเมทรี ได้แก่ Wavelength เท่ากับ 249.772 Axail RF power เท่ากับ 1.2 kw Plasma flow เท่ากับ 14.0 LPM Auxiliary flow เท่ากับ 0.8 LPM Nebulizer flow เท่ากับ 1.20 LPM Pump เท่ากับ 25 RPM และ Uptake เท่ากับ 25 sec ผลการศึกษา Matrix effects พบว่าความชันของ Standard calibration curve และ Matrix calibration curve ในช่วงความเข้มข้นโบรอน 0 - 1.2 มิลลิกรัมต่อลิตร มีความต่างกันน้อยกว่า 10% (%RPD < 10) แสดงว่าการทดสอบไม่มี Matrix effects ตามมาตรฐาน Nata ผลการตรวจสอบช่วงของการวิเคราะห์และช่วงความเป็นเส้นตรงของกราฟมาตรฐานอยู่ในช่วงความเข้มข้น 0 - 1.2 และ 0 - 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยมีค่า Correlation coefficient, r เท่ากับ 0.9999 และ 1.0000 ตามลำดับ ผลการพิสูจน์ความแม่นยำที่ระดับความเข้มข้นต่ำ กลาง และสูง ได้ค่า HorRat (Horwitz’s ratio) เท่ากับ 0.5 0.7 และ 0.3 ตามลำดับ และการพิสูจน์ความถูกต้อง โดยประเมินจาก %Recovery พบว่าอยู่ในช่วง 85.5 – 90.9% ทั้งความแม่นยำและความถูกต้อง ผ่านเกณฑ์การยอมรับตามมาตรฐาน AOAC ปริมาณต่ำสุดที่สามารถวิเคราะห์ได้ และปริมาณต่ำสุด ที่สามารถวิเคราะห์และรายงานผลได้ มีค่าเท่ากับ 0.15 และ 6.75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม การทดสอบความคงทนของวิธีวิเคราะห์จากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ เวลา และปริมาณสารละลายกรดไฮโดรคลอริกที่ใช้ในการล้างเถ้าตัวอย่าง โดยการประเมินค่าทางสถิติ t-test พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้งสามสภาวะการทดสอบ ทั้งนี้การวิเคราะห์โบรอนในพืชในช่วงความเข้มข้น 6.75 – 27.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ด้วยเทคนิคอินดักทีพลีคัพเปิลพลาสมาสเปคโตรเมทรี ตามวิธี Handbook of Methods for Plant Analysis เป็นวิธีที่เหมาะสมสามารถนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์พืชได้ เพราะเป็นวิธีที่ถูกต้อง แม่นยำและน่าเชื่อถือ

คำหลัก: โบรอนในพืช เทคนิคอินดักทีพลีคัพเปิลพลาสมาสเปคโตรเมทรี การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์


ไฟล์แนบ
.pdf   56. พัฒนาและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์โบรอนในพืชด้วยเทคนิคอินดักทีพลีคัพเปิลพลาสมาสเปคโตรเมทรี.pdf (ขนาด: 321.21 KB / ดาวน์โหลด: 728)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม