“เกษตรทฤษฎีใหม่ จากต้นแบบศูนย์วิจัย สู่ ไร่นาเกษตรกร” โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืช
#1
“เกษตรทฤษฎีใหม่ จากต้นแบบศูนย์วิจัย สู่ ไร่นาเกษตรกร” โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวทฤษฎีใหม่จังหวัดพัทลุง
เมธาพร นาคเกลี้ยง, ธัชธาวินท์ สะรุโณ, ปัทมา พรหมสังคหะ, ชอ้อน พรหมสังคหะ, ไพเราะ เทพทอง, บุญรัตน์ เหมือนยอด, มานิตย์ แสงทอง, ณัฐพงศ์ สงแทน, เกียรติศักดิ์ ขุนไกร, สมใจ จีนชาวนา, สมใจ สะรุโณ, มนต์สรวง เรืองขนาบ, สุมณฑา ชะเลิศเพชร, วิจิตร เพชรเล็ก, นันทิการ์ เสนแก้ว และจิระ สุวรรณประเสริฐ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8


          การพัฒนาแปลงตัวอย่างระบบเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง ได้มีการนำพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งแปลงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่มีพื้นที่ 18 ไร่ สภาพเป็นที่ลุ่ม และมีข้อจำกัด ได้แก่ สภาพน้ำท่วมในฤดูมรสุมสร้างความเสียหายให้กับพืชเกือบทุกปี  ผลการพัฒนา พบว่าสามารถจัดการพื้นที่และการผลิตให้เหมาะสมมีดังนี้ คือ ด้านการออกแบบการปรับพื้นที่เดิมที่เป็นที่นาปรับพื้นที่แบ่งเป็น แหล่งน้ำ 4 ไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 22  ของพื้นที่ทั้งหมด นาข้าว  6 ไร่ ร้อยละ 33 พืชผสมผสาน 7 ไร่ ร้อยละ 39 ที่อยู่อาศัยและถนน 1 ไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมด หรือแบ่งสัดส่วนเป็น 22 : 33 : 39 : 6 ด้านการ ปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ในพื้นที่นาข้าวปลูกข้าวแบบข้าวอินทรีย์พันธุ์เล็บนกปัตตานี ให้ ผลผลิต  224  กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 2,608 บาท/ไร่ หากเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงที่ประสบปัญหาพายุฝนและน้ำท่วมเป็นประจำจะต้องใช้พื้นที่ปลูกข้าว 4 - 5 ไร่ จึงมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่แปลงพืชผสมผสานเพื่อความพอเพียงในการดำรงชีพ  ปลูกพืชตามหลัก 9 กลุ่มพืชผสมผสานเพื่อความพอเพียงในการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวม 45 ชนิด ในกลุ่มพืชอาหาร พืชรายได้ พืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ พืช สมุนไพรกำจัดศัตรูพืช พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ พืชอาหารสัตว์ พืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น พืชไม้ใช้สอย และพืชเชื้อเพลิงหรือพลังงาน ทั้งนี้พบว่า ฝรั่ง มะนาว มะพร้าวน้ำหอม ไผ่ และปาล์มน้ำมัน เป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพน้ำท่วมและลมแรง การปลูกพืชเพื่อลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมแบบต่างๆ พบว่ารูปแบบที่เหมาะสม คือ การปลูก ผักไฮโดรโปนิกส์ การปลูกผักแบบยกแคร่  และการพืชในท่อซีเมนต์ ชนิดพืชที่มีศักยภาพสามารถให้ผลตอบแทนสูง ในผักไฮโดรโปนิกส์ คือกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดขาว คะน้า และผักบุ้ง ตามลำดับ ส่วนการปลูกผักแบบยกแคร่ พบว่าผักกาดขาว และผักกาดเขียวกวางตุ้ง สามารถให้ผลผลิตได้ดี และการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์สามารถให้ผลผลิตได้ดีเช่นกัน ด้านการใช้น้ำในแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่พบว่า มีการใช้น้ำปลูกพืชต่างๆ เฉลี่ย 299 ลูกบาศก์เมตร/ไร่  ผลการดำเนินงานยังพบว่าได้เพิ่มความหลากหลายของสัตว์หน้าดินมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดินพบว่าดินดีขึ้น

          ด้านขยายถ่ายทอดเทคโนโลยี และการขยายผลพบว่า ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ อบรมเกษตรกร แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และได้มีการการขยายผลจากศูนย์วิจัยสู่พื้นที่เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎี ใหม่ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 218 ราย และโรงเรียน 1 โรง ซึ่งผลรวมของการดำเนินงาน แปลงตัวอย่างเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง ได้เกิดประโยชน์ได้องค์ความรู้ในทาง วิชาการ การจัดการพืชในระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ส าหรับพื้นที่ในเขตที่ลุ่มที่มีความเสี่ยงในด้านน้ำท่วม ลมแรง ได้ เป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรได้ศึกษา เรียนรู้ ดูงาน นำไปปรับใช้ในพื้นที่ และเป็นการดำเนินงานที่สืบการนำสาน พระราชดำริมาปรับใช้ขยายผลเพื่อประโยชน์สุขของเกษตรกร


ไฟล์แนบ
.pdf   8_2562.pdf (ขนาด: 2.02 MB / ดาวน์โหลด: 2,867)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม