การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันด้วยการจัดการที่เหมาะสมระดับชุมชน
#1
การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันด้วยการจัดการที่เหมาะสมระดับชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
นิยม ไข่มุกข์, นฤทัย วรสถิตย์, พสุ สกุลอารีวัฒนา, กาญจนา ทองนะ, สุทธินันท์ ประสาธน์สุวรรณ์, นิมิตร วงศ์สุวรรณ, วุฒิชัย กากแก้ว, วีระวัฒน์ ดู่ป้อง, สิทธานต์ ชมพูแก้ว, อนงนาฎ ชมพูแก้ว, สุขุม ขวัญยืน และชำนาญ กสิบาล

          เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปีและให้ผลผลิตต่อเนื่องยาวนานหลายปี แต่ผลผลิตที่ได้โดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเมื่อเทียบกับเขตภาคใต้ จึงหาแนวทางที่จะเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยการศึกษาศักยภาพและปัจจัยที่มีผลต่อผลผลิต และทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อผลผลิตดำเนินการในระดับชุมชน 5 ชุมชน ในจังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร โดยเลือกชุมชนที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดจากการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตเป็นรายแปลง จำนวน 30 แปลงต่อชุมชน ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2561 ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพืชเสริม อายุโดยเฉลี่ย 3 - 11 ปี ปัจจัยที่มีศักยภาพ ได้แก่ พันธุ์ที่ปลูกซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่าและเป็นพันธุ์แนะนำที่สามารถให้ผลผลิตสูงได้ ลักษณะทางกายภาพของดินและพื้นที่ปลูกอยู่ในระดับเหมาะสมปานกลาง-เหมาะสมมาก มีโรงงานรับซื้อผลผลิตอยู่ในพื้นที่ การวางผังและระยะปลูกตามหลักวิชาการ ผลผลิตในแต่ละพื้นที่แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ สูง ปานกลาง และต่ำ คิดเป็นร้อยละ 25.4 39.1 และ 35.4 ของจำนวนแปลงทั้งหมด ปาล์มน้ำมันที่อายุ 6 ปีขึ้นไปให้ผลผลิตสูงที่สุดคือเฉลี่ย 3,728 3,433 3,375 และ 2,662 กิโลกรัม/ไร่ ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร อุดรธานี กาฬสินธุ์ และนครพนม ตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตต่ำสุดเฉลี่ย 1,006 911 913 และ 780 กิโลกรัม/ไร่ มีช่องว่างผลผลิตร้อยละ 271 277 270 และ 214 ตามลำดับ จังหวัดสกลนครช่องว่างระหว่างผลผลิตสูงกับต่ำร้อยละ 117 ปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตสูงคือกลุ่มที่ได้รับน้ำและธาตุอาหารอย่างเพียงพอ ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลผลิตต่ำเป็นกลุ่มที่ไม่มีการให้น้ำและไม่ใส่ปุ๋ยหรือได้รับน้ำและธาตุอาหารไม่เพียงพอ เห็นได้จากผลวิเคราะห์ดินที่พบว่าส่วนมากยังที่พบธาตุอาหารในดินอยู่ระดับต่ำหรือต่ำมาก และผลวิเคราะห์ใบที่พบว่ามีธาตุอาหารต่ำกว่าค่าวิกฤติ ในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลผลิตปาล์มของชุมชนให้สูงขึ้นจึงทดสอบการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบและดิน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่สามารถให้น้ำได้และกลุ่มที่ไม่สามารถให้น้ำได้ จังหวัดนครพนม ดำเนินการระหว่างเดือนเมษายน - กันยายน 2561 ผลการทดสอบพบว่า วิธีทดสอบกับวิธีเกษตรกรทั้งกลุ่มที่ให้น้ำและไม่ให้น้ำมีจำนวนทางใบทั้งหมด จำนวนช่อดอกเพศเมีย และผลผลิตทะลายสดไม่แตกต่างกันในทางสถิติ โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 549 ต่อ 578 กิโลกรัม/ไร่/6 เดือน จังหวัดอุดรธานี ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2560 - กันยายน 2561 เกษตรกร 20 ราย วิธีทดสอบและวิธีเกษตรให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,460 และ 1,351 กิโลกรัม/ไร่ ไม่แตกต่างกันในทางสถิติ จังหวัดกาฬสินธุ์ดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 เกษตรกร 30 ราย วิธีทดสอบกับวิธีเกษตรกรให้อัตราส่วนเพศดอกและผลผลิตไม่แตกต่างกันในทางสถิติ โดยมีสัดส่วนเพศดอก 44.8 ต่อ 43.5% และผลผลิต 446 ต่อ 424 กิโลกรัม/ไร่/3 เดือน สำหรับการทดสอบการให้น้ำตามค่าการขาดน้ำและใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบและดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกับปาล์มน้ำมันระยะที่ให้ผลผลิตแล้วใน 6 พื้นที่ๆ ละ 4 แปลง ระหว่างปี 2560 - 2561 ซึ่งเป็นการทดสอบต่อเนื่องจากระยะต้นเล็ก เมื่อปาล์มน้ำมันอายุ 6 - 7 ปี พบว่า วิธีทดสอบให้ผลผลิตต่อปีสูงสุด 3,273 กิโลกรัม/ไร่ หรือเฉลี่ย 2,010 กิโลกรัม/ไร่ วิธีเกษตรกรผลผลิตสูงสุด 2,857 กิโลกรัม/ไร่ หรือเฉลี่ย 1,487 กิโลกรัม/ไร่ วิธีทดสอบมากกว่าร้อยละ 26.0 พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี ปี 2561 ผลผลิตวิธีทดสอบ ต่อวิธีเกษตรกร เฉลี่ย 2,296 1,899 กิโลกรัม/ไร่ วิธีทดสอบมากกว่าร้อยละ 20.9 ต้นทุน 4,576 ต่อ 3,305 บาท/ไร่ มีรายได้ต่อปีเฉลี่ย 5,778 บาท/ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกรมีที่รายได้เฉลี่ย 4,588 บาท/ไร่ แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 1,190 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.9 ผลการศึกษาและทดสอบนี้สมารถถ่ายทอดให้กับเกษตรกรนำไปปฏิบัติในการผลิตปาล์มน้ำมันของตนเองได้ และเป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อศึกษาและพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

กิจกรรมที่ 1 การศึกษาศักยภาพและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันระดับชุมชนตามภูมินิเวศน์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
นฤทัย วรสถิตย์, นิยม ไข่มุกข์, วีระวัฒน์ ดู่ป้อง, สุทธินันท์ ประสาธน์สุวรรณ์, นิมิต วงศ์สุวรรณ, วุฒิชัย กากแก้ว และกาญจนา ทองนะ

          เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปีและเก็บเกี่ยวได้นานหลายปี แต่หลังจากปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตกลับพบว่าส่วนมากมีผลผลิตต่ำ จึงศึกษาศักยภาพการผลิตและปัจจัยที่มีผลต่อผลผลิตในระดับชุมชน 5 ชุมชน ใน 5 จังหวัด โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เลือกชุมชนที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดของจังหวัด จำนวนเกษตรกร 30 ราย/ชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใช้ในการยกระดับผลผลิต ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2561 พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพืชเสริม อายุปาลมน้ำมัน 3 - 11 ปี ปัจจัยที่มีศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ ได้แก่ พันธุ์ที่เกษตรกรปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่าและพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรที่สามารถให้ผลผลิตสูงได้ถ้ามีการจัดการที่ดี ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่และเนื้อดินส่วนใหญ่อยู่ในระดับเหมาะสมถึงเหมาะสมมากสภาพพื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง เป็นที่ราบดินระบายน้ำดี การวางผังปลูกถูกต้องตามคำแนะนำคือแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า มีโรงงานรับซื้อผลผลิตอยู่ใกล้แหล่งผลิต ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลผลิตซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำคือการดูแลรักษา โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ย และการให้น้ำเสริมในช่วงแล้ง โดยพบว่า การใส่ปุ๋ยให้ผลผลิตมากกว่าการไม่ใส่ปุ๋ย การให้น้ำให้ผลผลิตมากกว่าไม่ให้น้ำ และการใส่ปุ๋ยร่วมกับการให้น้ำเสริมในช่วงแล้งปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูงสุด มากกว่าการไม่ใส่ปุ๋ยและไม่ให้น้ำ และการใส่ปุ๋ยแต่ไม่ให้น้ำ ภาพรวมทั้ง 5 ชุมชน สำหรับผลผลิตพบว่าจำนวนแปลงที่มีผลผลิตระดับต่ำและปานกลางใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 35.4 และ 39.7 ส่วนระดับสูงมีเพียงร้อยละ 25.4 โดยปาล์มน้ำมันกลุ่มอายุ 6 ปี ขึ้นไป ผลผลิตสูงสุดในรอบปีในพื้นที่จังหวัดนครพนม อุดรธานี กาฬสินธุ์ และ มุกดาหาร โดยเฉลี่ย 2,662 3,433 3,375 และ 3,728 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะที่ผลผลิตต่ำสุดโดยเฉลี่ยเท่ากับ 780 911 913 และ 911 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ ช่องว่างผลผลิตระหว่างผลผลิตสูงกับต่ำในพื้นที่แต่ละพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 216 326 217 และ 270 ตามลำดับ สำหรับจังหวัดสกลนครผลผลิตสูงสุดและต่ำสุดเฉลี่ย 167 และ 76.9 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ช่องว่างผลผลิตร้อยละ 117 กลุ่มแปลงที่ให้ผลผลิตสูงมีการให้น้ำเสริมในช่วงแล้งและใส่ปุ๋ย ส่วนกลุ่มแปลงที่ให้ผลผลิตต่ำและปานกลางไม่มีการให้น้ำในช่วงแล้งและไม่ใส่ปุ๋ยเคมีหรือใส่แต่ชนิดปุ๋ยและปริมาณไม่สอดคล้องตามคำแนะนำ โดยจำนวนแปลงที่มีผลผลิตสูง ปานกลาง และต่ำ พื้นที่จังหวัดนครพนมร้อยละ 26.5 47.0 และ 26.5 จังหวัดสกลนครร้อยละ 6.67 43.3 และ 50.0 จังหวัดอุดรธานีร้อยละ 36.7 40.0 และ 23.3 จังหวัดกาฬสินธุ์ร้อยละ 36.7 30.0 และ 33.3 และจังหวัดมุกดาหารร้อยละ 20.6 38.2 และ 44.1 ตามลำดับ กลุ่มอายุ 6 ปี ขึ้นไป ผลผลิตสูง ปานกลาง ต่ำ จังหวัดนครพนมเฉลี่ย 2,662 2,098 และ 780 กิโลกรัม/ไร่ ช่องว่างผลผลิตระหว่างผลผลิตสูงกับต่ำ และสูงกับปากลาง คิดเป็นร้อยละ 216 และ 29.9 พื้นที่จังหวัดสกลนคร มีจำนวนแปลงแต่ละระดับร้อยละ 3.33 16.7 และ 80.0 ช่องว่างระหว่างผลผลิตสูงกับปานกลาง และปานกลางกับต่ำคิดเป็นร้อยละ 277 และ 138 กับ 171 พื้นที่จังหวัดอุดรธานีผลผลิตแต่ละระดับเฉลี่ย 3,433 1,682 และ 805 กิโลกรัม/ไร่ ช่องว่างระหว่างผลผลิตสูงกับต่ำ และสูงกับปานกลาง เฉลี่ยร้อยละ 326 และ 217 พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ผลผลิตแต่ละระดับเฉลี่ย 3,335 2,383 และ 1,005 กิโลกรัม/ไร่ ช่องว่างระหว่างผลผลิตสูงกับต่ำ และสูงกับปานกลาง เฉลี่ยร้อยละ 232 และ 94.7 ตามลำดับ และพื้นที่จังหวัดมุกดาหารมีผลผลิตแต่ละระดับเฉลี่ย 3,728 1,962 และ 1,006 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ ช่องว่างผลผลิตระหว่างระดับสูงกับ และสูงกับต่ำ และสูงกับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 270 และ 90.0 กลุ่มแปลงที่ให้ผลผลิตสูงมีการให้น้ำเสริมในช่วงแล้งและใส่ปุ๋ย ส่วนกลุ่มทีให้ผลผลิตต่ำคือไม่ให้น้ำและไม่ใส่ปุ๋ยหรือใส่ปริมาณน้อย เห็นได้จากผลธาตุอาหารในดินและใบต่ำกว่าค่ามาตรฐาน

กิจกรรมที่ 2 การยกระดับผลผลิตโดยการจัดการสวนที่เหมาะสมระดับชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
สุทธินันท์ ประสาธน์สุวรรณ์, นิยม ไข่มุกข์, วีระวัฒน์ ดู่ป้อง, นิมิตร วงศ์สุวรรณ, วุฒิชัย กากแก้ว, นฤทัย วรสถิตย์ และกาญจนา ทองนะ

          การปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร ซึ่งสภาพดินและอากาศแตกต่างจากภาคใต้หรือเขตเหมาะสมสำหรับปาล์มน้ำมัน ปัญหาที่พบคือผลผลิตต่ำ การดูแลรักษาและการจัดการสวนไม่เหมาะสม ผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันในเขตอำเภอหรือชุมชนที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของแต่ละจังหวัด พบว่ามีการใส่ปุ๋ยแต่ไม่เพียงพอ และขาดน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิตที่ค่อนข้างต่ำ จึงทดสอบการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบร่วมกับการให้น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยจังหวัดนครพนมมีแปลงทดสอบ 29 แปลง ปาล์มน้ำมันอายุ 4 - 7 ปี โดยทดสอบการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบร่วมกับให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง 7 แปลง และใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบแต่ไม่มีการให้น้ำในช่วงแล้ง 22 แปลง ส่วนวิธีเกษตรมีการใส่ปุ๋ยที่หลากหลายโดยใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0, 0-3-0, 0-0-60 อัตรา 0.2-2 0-2 และ 0-2 กิโลกรัม/ต้น/ปี ผลการทดสอบในช่วง 6 เดือนแรก (เมษายน - กันยายน 2561) ซึ่งมีช่วงแล้ง 1 เดือน พบว่า วิธีทดสอบกับวิธีเกษตรกรทั้งกลุ่มที่ให้น้ำและไม่ให้น้ำมีจำนวนทางใบทั้งหมดต่อต้นไม่แตกต่างกันในทางสถิติ จำนวนช่อดอกเพศเมียต่อต้นไม่แตกต่างกันในทางสถิติ จำนวนทะลายดิบที่ยังไม่เก็บเกี่ยวไม่แตกต่างกันในทางสถิติ ผลผลิตทะลายสดสะสมวิธีทดสอบกับวิธีเกษตรกรไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติ คือเฉลี่ย 549 ต่อ 578 กิโลกรัม/ไร่/6 เดือน แต่เดือนกันยายนวิธีทดสอบมีผลผลิตเฉลี่ย 93 กิโลกรัม/ไร่ มากกว่าวิธีเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ (วิธีเกษตรกรเฉลี่ย 81 กิโลกรัม/ไร่) จังหวัดอุดรธานีเกษตรกรที่เข้าร่วมดำเนินงานในปี 2560/61 จำนวน 20 ราย ซึ่งเป็นปีแรกของการทดสอบ กรรมวิธีทดสอบ 2 กรรมวิธี คือ วิธีทดสอบ การให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบและกรรมวิธีที่ 2 การให้ปุ๋ยแบบเกษตรกร พบว่ากรรมวิธีของกรมวิชาการเกษตรที่ได้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเฉลี่ย คือ 1,460 กิโลกรัม/ไร่ และกรรมวิธีเกษตรกรให้ผลผลิตเฉลี่ย คือ 1,351 กิโลกรัม/ไร่ ถึงแม้ว่าผลผลิตของกรมวิชาการเกษตรจะสูงกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันผลการทดสอบได้ เนื่องปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีระยะการให้ผลผลิตต่อทะลายใช้ระยะเวลา 40-44 เดือน จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลในปีต่อๆ ไป จังหวัดกาฬสินธุ์ 30 ราย วิธีทดสอบคือการให้น้ำเสริมในช่วงฤดูแล้ง การจัดการปุ๋ย และการตัดแต่งทางใบที่ถูกต้อง เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร พบว่า หลังทดลอง 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2561) ค่าเฉลี่ยอัตราส่วนเพศดอกและผลผลิตของวิธีทดสอบกับวิธีเกษตรกรไม่แตกต่างกันในทางสถิติ คือ 44.8 ต่อ 43.5 เปอร์เซ็นต์ และ 446 ต่อ 424 กิโลกรัม/ไร่/3 เดือน

กิจกรรมที่ 3 ทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันโดยการจัดการน้ำและปุ๋ยแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
พสุ สกุลอารีวัฒนา, กาญจนา ทองนะ, นิยม ไข่มุกข์, นิมิต วงศ์สุวรรณ, สุทธินันท์ ประสาธน์สุวรรณ์, วีระวัฒน์ ดู่ป้อง, สุขุม ขวัญยืนและสิทธานต์ ชมพูแก้ว

          การปลูกปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่มากขึ้น แต่ผลผลิตเฉลี่ยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเขตภาคใต้ เนื่องจากมีสภาพแล้งนาน 4-5 เดือน ซึ่งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรก็ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นในระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงได้นำใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใบซึ่งเป็นคำแนะนำในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับการจัดการน้ำในช่วงแล้งไปทดสอบในพ้นที่เกษตรกร เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการจัดการสวนปาล์มที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของภูมิภาคนี้ โดยทดสอบเปรียบเทียบกับวิธีการเดิมของเกษตรกร ในแปลงปาล์มน้ำมันของเกษตรกรระยะให้ผลผลิตแล้ว ดำเนินการ 6 จังหวัด ได้แก่การทดลองที่ 1 แปลงทดสอบจังหวัดบึงกาฬ เลย และนครพนม และการทดลองที่ 2 ทดสอบในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และอุดรธานี จังหวัดละ 4 แปลง ระหว่างปี 2560-2561 ซึ่งเป็นการทดสอบที่ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะต้นเล็กก่อนให้ผลผลิตในปี 2557 - 2559 ปัจจุบัน ปาล์มน้ำมันอายุ 5 - 6 ปี หลังปลูก แปลงทดสอบการทดลองที่ 1 ปาล์มน้ำมันพันธุ์ สุราษฏร์ธานี2 สุราษฏร์ธานี7 เดลิกาน่าและจากบริษัทรัตนอุตสาหกรรม ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ในปีงบประมาณ 2560 พบว่า ผลผลิตรวมต่อปี พบว่า ในปี 2560 วิธีทดสอบมากกว่าวิธีเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ โดยวิธีทดสอบมีผลผลิตรวมในรอบปีสูงสุด 2,410 กิโลกรัม/ไร่ หรือโดยเฉลี่ย 1,426 กิโลกรัม/ไร่ กับผลผลิตสูงสุดของวิธีเกษตรกรคือ 2,115 กิโลกรัม/ไร่ เฉลี่ย 1,111 กิโลกรัม/ไร่ หรือมากกว่าโดยเฉลี่ย 315 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.1 ในปี 2561 วิธีทดสอบมากกว่าวิธีเกษตรอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยวิธีทดสอบมีผลผลิตรวมในรอบปีสูงสุด 3,273 กิโลกรัม/ไร่ หรือเฉลี่ย 2,010 กิโลกรัม/ไร่ กับผลผลิตสูงสุดของวิธีเกษตรกร 2,857 กิโลกรัม/ไร่ หรือเฉลี่ย 1,487 กิโลกรัม/ไร่ หรือมากกว่าโดยเฉลี่ย 523 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 26.0

          การทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันโดยการจัดการน้ำและปุ๋ยแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และอุดรธานี วิธีทดสอบคือให้น้ำตามศักยภาพพื้นที่ อัตรา 300 ลิตร/ต้น/สัปดาห์และใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ และวิธีเกษตรกร ไม่ให้น้ำหรือให้น้ำ 10 - 15 วัน/ครั้ง และใส่ปุ๋ยตามที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่แล้ว ผลการทดสอบ พบว่า ในปี 2560 และ 2561 ปี 2560 และ 2561 ปาล์มน้ำมันอายุ 4 - 5 และ 5 - 6 ปี กรรมวิธีทดสอบให้จำนวนทางใบทั้งหมด พื้นที่หน้าตัดแกนทางใบ จำนวนใบย่อย และพื้นที่ใบ มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกรแต่ไม่แตกต่างในทางสถิติ ยกเว้นความยาวทางใบ ในปี 2561 วิธีทดสอบเฉลี่ย 380 เซนติเมตร มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ การออกดอกวิธีทดสอบให้สัดส่วนช่อดอกเพศเมียมากกว่าวิธีเกษตรกรแต่ไม่แตกต่างกันในทางสถิติ โดยในปี 2560 วิธีทดสอบกับวิธีเกษตรกรให้สัดส่วนช่อดอกเพศเมียเฉลี่ย 48.5 ต่อ 44.5 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2561 เฉลี่ย 57.0 ต่อ 53.2 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิต พบว่า กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตรวมในรอบปีมากกว่าวิธีเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2560 วิธีทดสอบให้ผลผลิตรวมในรอบปีอยู่ระหว่าง 654 - 3,847 กิโลกรัม/ไร่ (เฉลี่ย 1,870 กิโลกรัม/ไร่) มากกว่าวิธีเกษตรกรโดยเฉลี่ย 520 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 27 และในปี 2561 วิธีทดสอบให้ผลผลิต อยู่ระหว่าง 1,372 - 4,022 กิโลกรัม/ไร่ (เฉลี่ย 2,296 กิโลกรัม/ไร่) โดยมากกว่าวิธีเกษตรกรเฉลี่ย 397 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20.9 ต้นทุนการผลิตวิธีทดสอบสูงกว่าวิธีเกษตรกร โดยในปี 2560 วิธีทดสอบกับวิธีเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตต่อปีเฉลี่ย 4,531 ต่อ 3,729 บาท/ไร่ และปี 2561 เฉลี่ย 4,576 ต่อ 3,305 บาท/ไร่ รายได้ในปี 2560 วิธีทดสอบมีรายได้ในรอบปีสูงกว่าวิธีเกษตรกรเฉลี่ย 5,050 บาท/ไร่ สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรที่มีรายได้เฉลี่ย 3,552 บาท/ไร่ แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 1,498 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 42.2 ปี 2561 วิธีทดสอบมีรายได้ต่อปีเฉลี่ย 5,778 บาท/ไร่ สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรมีที่รายได้เฉลี่ย 4,588 บาท/ไร่ แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 1,190 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.9 ผลตอบแทนหรือรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย พบว่า ในปี 2560 กรรมวิธีทดสอบมีผลตอบแทนต่อปีเฉลี่ย 518 บาท/ไร่ แตกต่างจากวิธีเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ย 176 บาท/ไร่ ส่วนในปี 2561 ทั้งวิธีทดสอบและวิธีเกษตรกรให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นคือเฉลี่ย 1,282 ต่อ 1,201 บาท/ไร่ โดยวิธีเกษตรกรให้ผลตอบแทนมากกว่าเล็กน้อย



ไฟล์แนบ
.pdf   6_2561.pdf (ขนาด: 1.51 MB / ดาวน์โหลด: 682)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม