ทดสอบเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
#1
ทดสอบเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
กาญจนา ทองนะ

          ปาล์มน้ำมันถือว่าเป็นพืชใหม่สำหรับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เป็นพืชที่เกษตรกรให้ความสนใจและมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีการปฏิบัติดูแลรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นการสำรวจและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและนำเทคโนโลยีการจัดการสวนที่ถูกต้องไปทดสอบในแปลงเกษตรกร ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการจัดการสวนและการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันที่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นการเผยแพร่และปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันตามหลักวิชาการแก่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป

          จากการสำรวจเก็บข้อมูลเกษตรกรจำนวน 690 ราย ที่ปลูกปาล์มน้ำมันปี 2557 ทั้งหมด 6 จังหวัด ในพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมาก ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร และจังหวัดอุดรธานี พบว่าเกษตรกรร้อยละ 52 ขาดความรู้ความเข้าใจการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรจำนวนไม่น้อยไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ ถึงการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก วิธีการเตรียมพื้นที่ พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ตลอดจนการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน ทั้งในเรื่องของการจัดการดินและปุ๋ย การให้น้ำเสริมในช่วงฤดูแล้ง และการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง จากที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีผลกระทบต่อต้นปาล์มน้ำมัน การให้ผลผลิต และคุณภาพผลผลิต

          ในภาพรวมของกิจกรรมทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันระยะก่อนให้ผลผลิตของเกษตรกรตามศักยภาพพื้นที่นั้น พบว่า เกษตรกรจำนวน 24 ราย เข้าร่วมการทดลอง โดยวางระบบให้น้ำ และใส่ปุ๋ย 2 กรรมวิธี คือ ให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบและดิน และให้ปุ๋ยตามวิธีเกษตรกร พบว่าการจัดการสวนปาล์มน้ำมันก่อนการทดสอบของเกษตรกรแต่ละรายแตกต่างกัน มีการให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง มีการใช้ปุ๋ยทั้งชนิดและปริมาณที่เหมือนและแตกต่างจากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เมื่อทดสอบเปรียบเทียบข้อมูลการเจริญเติบโต ในปี 2558 ยังไม่เห็นความแตกต่าง เริ่มเห็นความแตกต่างของการเจริญเติบโตในปี 2559 และบางแปลงเริ่มให้ผลผลิต

          ทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันระยะให้ผลผลิตของเกษตรกรตามศักยภาพพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เลย นครพนม กาฬสินธุ์ สกลนคร และอุดรธานี ดำเนินการทดสอบในแปลงเกษตรกรจำนวน 24 ราย ดำเนินงานตามแผนการทดลอง 2 กรรมวิธี คือ ให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบและดิน และกรรมวิธีเกษตรกร พบว่าการจัดการสวนปาล์มน้ำมันก่อนการทดสอบของเกษตรกรแต่ละรายมีการจัดการสวนปาล์มน้ำมันไม่แตกต่างกันคือ มีการให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง มีการใช้ปุ๋ยทั้งชนิดและปริมาณที่เหมือนและแตกต่างจากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เมื่อทดสอบเปรียบเทียบและบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโต ผลผลิตในรอบการทดลอง 2 ปีแรก ไม่มีความแตกต่างอิทธิพลของกรรมวิธีที่ดำเนินการทดสอบยังส่งผลไม่ชัดเจนในปีที่สองนี้ และในปีที่สาม (ปี 2559) การเจริญเติบโตทางกายภาพและผลผลิตของกรรมวิธีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรมีค่ามากกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร ส่วนการให้ผลผลิตพบว่า ทั้งสองกรรมวิธีให้จำนวนทะลายและน้ำหนักต่อต้นไม่แตกต่างกัน แต่กรรมวิธีตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตรมีแนวโน้มให้ผลผลิตดีกว่า

          การสุ่มตรวจคุณภาพทะลายปาล์มที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายที่ลานเท ในปี 2559 โดยสุ่มเช็คจำนวน 10 จุดต่อ 1 ลานเท เพื่อประเมินว่าแต่ละจุดมีทะลายปาล์มสุก กึ่งสุก และดิบ เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และเก็บตัวอย่างทะลายปาล์มที่มีความสุกแก่แต่ละระดับๆ ละ 1 ทะลาย จำนวน 1 จุดต่อ 1 ลานเท ทั้งหมด 6 ลานเท และเก็บตัวอย่างจากเกษตรกรที่นำผลผลิตมาจำหน่าย จำนวน 5 ราย พบว่าการประเมินชั้นคุณภาพปาล์มน้ำมันของลานเทรับซื้อและเกษตรกรในครั้งที่ 1 เกษตรกรยังตัดปาล์มดิบมากที่สุด ถึงร้อยละ 56 และ71 ตามลำดับ รองลงมาเป็นปาล์มกึ่งสุก คิดเป็นร้อยละ 34 และ 25 ตามลำดับ ส่วนปาล์มสุกพบน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 10 และ 4 ตามลำดับ ส่วนครั้งที่ 2 พบว่าลานเทรับซื้อมีการคัดแยกปาล์มก่อนรับซื้อ โดยจะซื้อเฉพาะปาล์มสุก จึงทำให้ลานเทมีผลการประเมินชั้นคุณภาพปาล์มสุก มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 65 ของลานเททั้งหมด รองลงมา คือ ชั้นกึ่งสุกคิดเป็นร้อยละ 26 ของลานเททั้งหมด และชั้นปาล์มดิบคิดเป็นร้อยละ 9 ของลานเททั้งหมด สำหรับเกษตรกรยังขาดความรู้ในการตัดปาล์มน้ำมัน จากผลจากการสุ่มตรวจชั้นคุณภาพของเกษตรกร 5 ราย พบปาล์มชั้นดิบมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 48 ของลานเททั้งหมด รองลงมาคือชั้นกึ่งสุกคิดเป็นร้อยละ 39 ของลานเททั้งหมด และชั้นสุกคิดร้อยละ 13 ของลานเททั้งหมด

         ทดสอบการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดหนองคาย จากการคัดเลือกเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่อยู่ในระยะให้ผลผลิต มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 8 ราย โดยเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวตามวิธีเกษตรกร และตามระยะสุกแก่ตามมาตรฐาน มกษ. 2558/2559 พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตที่ระยะกึ่งสุกจนถึงระยะสุกเต็มที่ แต่เกษตรกรบางรายเก็บเกี่ยวไม่เหมาะสม ซึ่งจ้าเป็นต้องมีการให้ความรู้เรื่องการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพแก่เกษตรกร เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวในระยะเหมาะสมต่อไปได้


ไฟล์แนบ
.pdf   14_2559.pdf (ขนาด: 2.61 MB / ดาวน์โหลด: 628)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม