03-23-2017, 04:14 PM
ศึกษาการจัดการเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่คุณภาพในช่วงฤดูแล้งภาคตะวันออก (จ.จันทบุรี)
ทวีศักดิ์ แสงอุดม, เพ็ญจันทร์ สุทธานุกูล, วรางคณา มากกกำไร และมลุลี บุญเรือง
สถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย
ทวีศักดิ์ แสงอุดม, เพ็ญจันทร์ สุทธานุกูล, วรางคณา มากกกำไร และมลุลี บุญเรือง
สถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย
การจัดการเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่ในช่วงฤดูแล้งเขตภาคตะวันออกจังหวัดจันทบุรี เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตคุณภาพส่งออก ระหว่างตุลาคม 2554 - กันยายน 2557 โดยศึกษาการปลูก 2 ระบบ คือ ปลูกเป็นพืชเดี่ยวและปลูกแซมระหว่างแถวขนุน มีการให้น้ำแบบ Minisprinkle และ Minisprinkle + Mist spray รวมทั้งการจัดการหวีสุดท้าย โดยการตัดหวีตีนเต่า และไม่ตัดหวีตีนเต่า ทำ 4 ซ้ำ ซ้ำละ 25 ต้น ผลการทดลองพบว่า การปลูกกล้วยไข่เป็นพืชแซมในสวนขนุนให้น้ำหนักเครือระหว่าง 4.96 - 5.91 กิโลกรัม เฉลี่ย 5.3 กิโลกรัม จำนวนหวีต่อเครือ 5.2 หวี เปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือและน้ำหนักหวีที่ได้มาตรฐานส่งออก 76.76% และ 1116.6 กรัม ตามลำดับ ส่วนการปลูกเป็นพืชเดี่ยวให้น้ำหนักเครือระหว่าง 5.46 - 6.68 กิโลกรัม เฉลี่ย 5.97 กิโลกรัม จำนวนหวีต่อเครือ 4.73 หวี เปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือและน้ำหนักหวีที่ได้มาตรฐานส่งออก 84.49% และ 1,291.5 กรัมตามลำดับ ส่วนการจัดการน้ำทั้ง 2 แบบ ให้ผลผลิตและคุณภาพใกล้เคียงกัน ส่วนการตัดหวีสุดท้าย (ตีนเต่า) ก่อนการห่อเครือ จะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือและน้ำหนักหวีมาตรฐานมากกว่าการไม่ตัดหวีสุดท้ายประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ด้านการหักล้มพบว่า การปลูกในสภาพแปลงเดี่ยวมีการหักล้มสูงสุด 11.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการปลูกเป็นพืชแซมไม่มีการหักล้ม ด้านผลตอบแทนเมื่อรวมรายได้และหักต้นทุนต่างๆ แล้วพบว่า การปลูกกล้วยไข่เป็นพืชเดี่ยวให้ผลตอบแทน 21,614 บาท/ไร่ ส่วนการปลูกเป็นพืชแซมจะมีรายได้ทั้งจากพืชหลักและพืชแซมทำให้มีรายได้สุทธิสูงถึง 40,130 บาท/ไร่ อย่างไรก็ตามรายได้สุทธิจะมากหรือน้อยจะขึ้นกับปริมาณผลผลิตที่ได้คุณภาพเป็นสำคัญเพราะจะส่งผลต่อราคาค่อนข้างมากโดยเฉพาะกล้วยไข่ที่ได้มาตรฐานราคาจะต่างกับกล้วยไข่ที่ไม่ได้มาตรฐาน 8 - 10 เท่า