การขยายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสมสกุลลิ้นมังกรและสกุลว่านอึ่งโดยการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ
#1
ศึกษาการขยายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสมสกุลลิ้นมังกรและสกุลว่านอึ่งโดยการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ
กัลยา เกาะกากลาง, อนันต์ สุนทรเกษมสุข, สุเมธ อ่องเภา และอดุลย์ ขัดสีใส
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง

          การศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์กล้วยไม้ดินโดยวิธีการเพาะเมล็ดและการเพาะเลี้ยงต้นอ่อนในสภาพปลอดเชื้อ แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

          1. ศึกษาการขยายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสมสกุลลิ้นมังกรโดยการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ สูตรอาหารที่เหมาะสมในการพัฒนาของเมล็ดกล้วยไม้ลูกผสมลิ้นมังกร (Habenaria rhodocheila Hance.) หลังจากเพาะเมล็ดบนอาหารแข็งสูตร VW ดัดแปลง เป็นระยะเวลา 4 เดือน พบว่าอาหารแข็งสูตร VW ดัดแปลง ที่มีการเติมน้ำมะพร้าวปริมาณ 50 - 150 มิลลิลิตร/ลิตร ร่วมกับการเติม peptone 1 กรัม/ลิตร ให้ผลดี คือเมล็ดมีการงอก สามารถเจริญไปเป็นโปรโตคอร์มและพัฒนาไปเป็นต้นอ่อนได้  เมื่อนำโปรโตคอร์มที่ได้จากการเพาะเมล็ด เลี้ยงในอาหารที่มีการชักนำให้โปรโตคอร์มเจริญเป็นต้นอ่อนของกล้วยไม้ลิ้นมังกร เป็นระยะเวลา 4 เดือน พบว่า อาหารสูตรที่ 4 คือ อาหารสูตร VW ที่มีการเติมน้ำตาล 20 กรัม/ลิตร น้ำมะพร้าว 150 มิลลิลิตร/ลิตร น้ำสกัดมันฝรั่ง 100 กรัม/ลิตร กล้วยหอม 20 กรัม/ลิตร ร่วมกับการใส่ผงถ่าน 2 กรัม/ลิตร และผงวุ้น 6 กรัม/ลิตร ปรับ pH 5.7 ให้จำนวนหัวและจำนวนใบเฉลี่ยมากที่สุด โดยให้จำนวนหัวเฉลี่ย 11 หัว และจำนวนใบเฉลี่ย 12 ใบ

         2. ศึกษาการขยายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสมสกุลว่านอึ่งโดยการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อสูตรอาหารที่เหมาะสมในการพัฒนาของเมล็ดกล้วยไม้หมูกลิ้ง (Eulophia andamanensis) ว่านหัวครู (Eulophia spectabilis) และลูกผสมที่เกิดจากการผสมข้ามชนิดของว่านหัวครูและหมูกลิ้ง (interspecific hybridization between Eulophia andamanensis and Eulophia spectabilis) หลังจากเพาะเมล็ดบนอาหารแข็งสูตร VW ดัดแปลง เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ดินทั้ง 3 ชนิด คือ อาหารสูตร VW (1949) ดัดแปลงร่วมกับน้ำตาล 20 กรัมต่อลิตร โดยนำไปเลี้ยงในสภาพได้รับแสงตลอดและเก็บในที่มืด สามารถกระตุ้นให้เมล็ดงอกและพัฒนาเป็นโปรโตคอร์มได้  เมื่อนำโปโตคอร์มไปเลี้ยงในอาหารที่มีการชักนำให้โปรโตคอร์มเจริญเป็นต้นอ่อนเป็นระยะเวลา 4 เดือน สำหรับกล้วยไม้หมูกลิ้งพบว่า สูตรอาหาร VW (1949) ดัดแปลง ที่มีการเติมน้ำมะพร้าว กล้วยหอม และผงถ่าน ทำให้มีการพัฒนาของโปรโตคอร์มไปเป็นต้นอ่อนดีที่สุด  ส่วนกล้วยไม้ว่านหัวครูพบว่า สูตรอาหาร VW (1949) ดัดแปลง ที่มีการเติมน้ำมะพร้าว กล้วยหอม และผงถ่าน ให้จำนวนยอดเฉลี่ยมากที่สุด คือ 9.74 ยอด และสูตรอาหารที่มีการเติมกล้วยหอมอย่างเดียว ให้จำนวนรากเฉลี่ยมากที่สุด คือ 46.56 ราก  และกล้วยไม้ลูกผสมข้ามชนิดของว่านหัวครูผสมหมูกลิ้งพบว่า สูตรอาหาร VW (1949) ดัดแปลงที่มีการเติมน้ำมะพร้าว กล้วยหอม และผงถ่าน ให้จำนวนยอดเฉลี่ยและจำนวนรากเฉลี่ยมากที่สุด คือ 3.5 ยอด และ 23 ยอด ตามลำดับ นั่นคือสูตรอาหารที่มีการเติมสารประกอบอินทรีย์ คือ น้ำมะพร้าว กล้วยหอม และผงถ่าน กระตุ้นให้มีการเจริญของโปรโตคอร์มซึ่งมีการพัฒนาเกิดเป็นยอดและรากได้ดีกว่าสูตรอาหารที่ไม่ได้เติมสารประกอบอินทรีย์ และสามารถเลี้ยงต้นอ่อนให้เป็นต้นที่สมบรูณ์พร้อมออกปลูกได้ภายในเวลา  4 เดือน


ไฟล์แนบ
.pdf   164_2557.pdf (ขนาด: 345.18 KB / ดาวน์โหลด: 1,189)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม