01-31-2017, 02:49 PM
การสืบค้นยีนโดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุลสำหรับคัดเลือกพันธุ์งาต้านทานโรคราแป้ง
จุไรรัตน์ หวังเป็น, สุรีพร เกตุงาม, สมใจ โควสุรัตน์, ธำรง เชื้อกิตติศักดิ์ และสมหมาย วังทอง
จุไรรัตน์ หวังเป็น, สุรีพร เกตุงาม, สมใจ โควสุรัตน์, ธำรง เชื้อกิตติศักดิ์ และสมหมาย วังทอง
โรคราแป้ง (powdery mildew) เป็นโรคที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งของการปลูกงา การใช้พันธุ์ต้านทานเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคนี้และยังช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีอีกทางหนึ่งด้วยดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์งาให้ต้านทานต่อโรคราแป้งจึงมีความสำคัญ การทดลองนี้ได้นำเครื่องหมายโมเลกุลมาใช้ศึกษาร่วมกับเทคนิค Bulk Segregant Analysis (BSA) เพื่อติดตามยีนที่ควบคุมลักษณะต้านทานโรคราแป้งในงา โดยมีประชากรที่ได้มาจาก ประชากรลูกผสมชั่วที่ 3 ที่ได้จากการการทดลองเรื่อง การสร้างประชากรเพื่อใช้ในการสืบค้นยีนโดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุลสำหรับคัดเลือกพันธุ์งาต้านทานโรคราแป้ง ปลูกพันธุ์พ่อแม่ งาพันธุ์ต้านทาน (GMUB 1) พันธุ์อ่อนแอ (มหาสารคาม 60) และพันธุ์อ่อนแอ (อุบลราชธานี 1) ลูกผสมสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีลักษณะที่ต้านทานต่อโรคราแป้งจำนวน 10 ต้น และกลุ่มที่อ่อนแอต่อโรคราแป้ง จำนวน 10 ต้น ลูกผสมที่ใช้ คือ GMUB1 x MK60 และ UB1 x GMUB1 โดยอาศัยข้อมูลจากการประเมินความรุนแรงของการเกิดโรคจากการเข้าทำลายของเชื้อรา Oidium sp. เป็นรายต้น จากนั้นสกัดดีเอ็นเอ โดยปลูกงาอายุประมาณ 3 สัปดาห์ เก็บใบอ่อนงานำมาสกัดดีเอ็นเอ แล้วนำมาทดสอบกับไพรเมอร์ จำนวน 35 ไพรเมอร์ พบว่ามีไพรเมอร์ไอเอสเอสอาร์ จำนวน 17 ไพรเมอร์ ที่สามารถเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอในงาได้ชัดเจน เมื่อนำไพรเมอร์ดังกล่าวมาตรวจสอบความแตกต่างระหว่างพันธุ์พ่อแม่และลูกผสมพบว่า คู่ผสมระหว่าง UB1 x GMUB1 ได้ไพรเมอร์ไอเอสเอสอาร์จำนวน 5 ไพรเมอร์ ที่สามารถแยกความแตกต่างของงาพันธุ์พ่อแม่และลูกผสมที่ต้านทาน และอ่อนแอต่อโรคราแป้งได้ ส่วนคู่ผสม GMUB1 x MK60 ไพรเมอร์ไอเอสเอสอาร์ไม่สามารถแยกความแตกต่างของงาพันธุ์พ่อแม่ และลูกผสมที่ต้านทาน และอ่อนแอต่อโรคราแป้งได้ ดังนั้น เพื่อให้ได้เครื่องหมายที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างพันธุ์พ่อแม่ และลูกผสม อาจจะต้องใช้ไพรเมอร์ในการคัดเลือกเพิ่มขึ้น และข้อมูลที่ได้นี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในงานวิจัยที่เกี่ยวกับงาต้านทานโรคราแป้งในอนาคตได้