การปรับปรุงพันธุ์งาขาวเพื่อผลผลิตสูง : การเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่น
#1
การปรับปรุงพันธุ์งาขาวเพื่อผลผลิตสูง : การเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่น
จุไรรัตน์ หวังเป็น, นภาพร คำนวณทิพย์, ปรีชา แสงโสดา และสมหมาย วังทอง
ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี, ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย

          คัดเลือกพันธุ์งาจำนวน 6 สายพันธุ์ จากแปลงเปรียบเทียบมาตรฐานใน ปี 2555 มีงาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ รวมเป็น 7 สายพันธุ์ นำเข้าเปรียบเทียบในท้องถิ่นปี 2556 - 2557 วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ ดำเนินการทดลอง 3 สถานที่ คือ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย และศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี จากการทดลองปี 2556 - 2557 ผลผลิตเฉลี่ย 3 สถานที่ พบว่าพันธุ์งาขาวอุบลราชธานี ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 117 กก./ไร่ รองลงมา คือ สายพันธุ์ PI298629 (103 กก./ไร่) PI426942 (97 กก./ไร่) และ PI280793 (95 กก./ไร่) งานทดลองปลายฤดูฝน ปี 2556 ทั้ง 3 สถานที่มีฝนตกชุกในช่วงแรกทำให้ต้นงาไม่เจริญเต็มที่ มีโรคเน่าดำและไหม้ดำระบาด และมีปัญหาการหักล้มของต้นงาทำให้ผลผลิตลดลง จำนวนฝักต่อต้น พบว่าพันธุ์งาขาวพม่า มีจำนวนฝักมากที่สุด คือ 51.2 ฝัก รองลงมา ได้แก่ สายพันธุ์ PI426942 (47.7 ฝัก) PI599449 (45.2 ฝัก) และสายพันธุ์ PI280793 (43.6 ฝัก) และน้ำหนัก 1,000 เมล็ด พบว่าสายพันธุ์ PI280793 มีน้ำหนักมากที่สุด คือ 3.12 กรัม รองลงมา คือ พันธุ์งาขาวอุบลราชธานี 2 คือ 2.98 กรัม และสายพันธุ์ PI426942 คือ 2.85 กรัม การวิเคราะห์ข้อมูลความแปรปรวนรวมปี 2556 พบว่ามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุ์กับสถานที่ ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ในต้นฤดูฝน เกือบทุกพันธุ์/สายพันธุ์ให้ผลผลิตดี ยกเว้นสายพันธุ์ PI599449 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย พันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี คือ อุบลราชธานี 2 และ PI298629 ส่วนที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี เกือบทุกพันธุ์/สายพันธุ์ให้ผลผลิตดียกเว้นสายพันธุ์ PI280793 และ PI599449 ปลายฝน 2556 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ พันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี คือ PI280793 อุบลราชธานี 2 และ PI298629 ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี พันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี คือ อุบลราชธานี 2 และ PI426942 ส่วนที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย ข้อมูลผลผลิตไม่สามารถวิเคราะห์ความแปรปรวนรวมได้ เพราะข้อมูลไม่เป็นเอกภาพ (heterogeneity) ปี 2557 ในต้นฤดูฝน ข้อมูลผลผลิตไม่สามารถวิเคราะห์ความแปรปรวนรวมได้ เพราะข้อมูลไม่เป็นเอกภาพ (heterogeneity) ส่วนปลายฤดูฝนพบว่า ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ พันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี คือ PI298629 อุบลราชธานี 2 และ PI280793 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีสามารถปลูกได้ทุกพันธุ์/สายพันธุ์ จากการวิเคราะห์ที่กล่าวมาข้างต้นสามารถคัดเลือก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ PI298629 PI280793 และ PI4426942 เพื่อนำเข้าเปรียบเทียบขั้นต่อไป 


ไฟล์แนบ
.pdf   113_2557.pdf (ขนาด: 134.51 KB / ดาวน์โหลด: 444)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม