การพัฒนาการจัดการศัตรูผลิตผลเกษตรเพื่อรักษาคุณภาพ
#1
การพัฒนาการจัดการศัตรูผลิตผลเกษตรเพื่อรักษาคุณภาพ
กรรณิการ์ เพ็งคุ้ม, รังสิมา เก่งการพานิช, ใจทิพย์ อุไรชื่น, ดวงสมร สุทธิสุทธิ์, ภาวินี หนูชนะภัย, พนัญญา พบสุข, ณัฐวัฒน์ แย้มยิ้ม, พรทิพย์ วิสารทานนท์ และอัจฉรา เพชรโชติ

          ผลิตผลทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวทั้งเมล็ดธัญพืช ผัก ผลไม้ และไม้ดอก เกิดความสูญเสียได้มากสาเหตุจากการเข้าทำลายหรือการปนเปื้อนของแมลง ทำให้คุณภาพไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด โครงการวิจัยการพัฒนาการจัดการศัตรูผลิตผลเกษตรเพื่อรักษาคุณภาพ ดำเนินการทดลองในปี 2554 - 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยวในเมล็ดธัญพืช พืชสมุนไพร ผัก ผลไม้ และไม้ดอก ทั้งที่บริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ วิธีการใช้สารรมที่เหมาะสม การใช้วิธีทางกายภาพ การใช้ชีวภัณฑ์ เพื่อลดการใช้สารเคมีและต้องคงคุณภาพของผลิตผลได้ดี การทดลองในโครงการประกอบด้วย 5 กิจกรรมได้แก่ 1) กิจกรรมการใช้สารรมอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ 2) กิจกรรมการพัฒนาการผลิตชีวภัณฑ์และการนำไปใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร 3) กิจกรรมการใช้วิธีทางกายภาพในการควบคุมแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร 4) กิจกรรมการศึกษาชีววิทยา นิเวศวิทยา และการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร และ 5) กิจกรรมการศึกษาความต้านทานฟอสฟีนของแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร โดยได้ผลการทดลองในแต่ละกิจกรรมดังนี้

          กิจกรรมการใช้สารรมอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพพบว่า การรมในสภาพไซโลจำเป็นต้องมีการป้องกันการรั่วไหลของก๊าซและมีระบบหมุนเวียนอากาศ การรมก๊าซฟอสฟีนที่มีประสิทธิภาพระยะในเวลาการรมเป็นส่วนสำคัญ คือ ต้องรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซไว้อย่างน้อย 5 วัน ผ้าพลาสติกที่ใช้ในการรมสามารถใช้ได้ทั้งผ้าพลาสติกนีโอชีท (PE + ไนล่อน) หนา 0.06 มม. ผ้าพลาสติก (tarpaulin) หนา 0.05 - 0.2 มม. การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูกาแฟในโรงเก็บควรใช้กับดักแสงไฟเพื่อดักจับด้วงกาแฟร่วมกับการใช้สารรมฟอสฟีนที่อัตรา 1 tablet/ต่อสารกาแฟ 1 ตัน สำหรับกำจัดเพลี้ยไฟฝ้ายผักส่งออกพบว่า สารรมเมทิลโบรไมด์ที่ความเข้มข้น 30 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร นาน 90 นาที สามารถกำจัดเพลี้ยไฟได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ส่วนในแมลงวันพริกต้องใช้อัตราสารรมเมทิลโบรไมด์ที่มากกว่า 32 mg/l การใช้สารรม ECO2FUME ในการกำจัดแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรพบว่าการรมด้วย ECO2FUME นั้นสามารถลดระยะเวลาการรมด้วยการเพิ่มอัตราความเข้มข้นได้การรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อกำจัดด้วงงวงข้าวโพด และมอดแป้ง สามารถรมด้วย ECO2FUME ที่อัตรา 25 กรัม/ลบ.ม. (350 ppm) ใช้ระยะเวลา 3 วัน อัตรา 50 กรัม/ลบ.ม. (700 ppm) ใช้ระยะเวลา 2 วัน และอัตรา 70 กรัม/ลบ.ม. (1,000 ppm) ใช้ระยะเวลา 1 วัน โดยต้องควบคุมระดับความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนให้อยู่ในระดับที่กำหนดตลอดระยะเวลาของการรม และการศึกษาประสิทธิภาพของสารรมอีโคฟูมต่อการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้ายภายใต้สภาพห้องปฏิบัติการ พบว่าสารรมอีโคฟูมอัตรา 2000 ppm 72 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส จะสามารถกำจัดเพลี้ยไฟได้ทุกระยะการเจริญเติบโตควรเก็บที่ 10 องศาเซลเซียส ได้นาน 7 วัน

          กิจกรรมการพัฒนาการผลิตชีวภัณฑ์และการนำไปใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร พบว่าการเก็บรักษาแตนเบียนให้คงประสิทธิภาพสำหรับแตนเบียนผีเสื้อข้าวสาร (Bracon hebetor Say) ส่วนแตนเบียนมอด (Anisopteromalus calandrae (Howard)) การเก็บที 10 องศาเซลเซียส ยังไม่เหมาะสม สำหรับมวนดำก้นลายก้นลาย (Amphibolus venator (Klug)) ได้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและสามารถนำไปปล่อยเพื่อควบคุมแมลงในโรงเก็บได้ ด้านการใช้สมุนไพรในการป้องกันกำจัดแมลงพบว่า การจุ่มผลเงาะในสารสกัดจากใบยาสูบพันธุ์เบอรเลย์ที่ผสมกับพันธุ์เวอร์จิเนีย อัตราส่วน 1:1 ที่ความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย เป็นเวลา 60 นาที มีประสิทธิภาพในการกำจัดเพลี้ยแป้งลายทำให้เพลี้ยแป้งตาย 86.51 และ 93.89 เปอร์เซ็นต์ที่ 24 และ 72 ชั่วโมงหลังการทดลอง สารสกัดจากเลี่ยนที่ระดับความเข้มข้น 30 เปอร์เซ็นต์ และสารสกัดจากลางสาดที่ระดับความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพในการควบคุมด้วงงวงข้าวโพดและมอดหนวดยาวได้ดี การทดสอบฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยจากจันทน์เทศและข่าลิงในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีฤทธิ์ต่อด้วงถั่วเขียวและด้วงถั่วเหลืองทั้งในด้านการสัมผัส การเป็นสารรม และยับยั้งการวางไข่และการฟักของตัวอ่อน แต่เมื่อนำไปทดสอบในสภาพโรงเก็บด้วยการคลุกเมล็ดถั่วเขียง พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากจันทน์เทศและข่าลิงไม่สามารถป้องกันกำจัดแมลงศัตรูถั่วเขียวในสภาพโรงเก็บได้

          กิจกรรมการใช้วิธีทางกายภาพในการควบคุมแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรพบว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมในการอบฆ่ามอดยาสูบและมอดสมุนไพร ในดอกคำฝอย ดอกเก็กฮวย และชาใบหม่อน คือ 60 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 2 ชั่วโมง ส่วนเมล็ดผักชี คือ 60 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 3 ชั่วโมง การทดสอบการใช้คลื่นความถี่วิทยุในเมล็ดข้าวโพดพบว่า ระดับพลังงานที่ทำให้ข้าวโพดมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 90 วินาที สามารถควบคุมด้วงงวงข้าวโพดและมอดข้าวเปลือกได้ดีและทำให้คุณภาพของข้าวโพดเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย การทดสอบการรมแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรที่สำคัญ ด้วยก๊าซไนโตรเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในสภาพก๊าซหมุนเวียนพบว่า การรมโดยใช้ก๊าซไนโตรเจน 99.9% เป็นเวลา 12 วัน สามารถควบคุมแมลงด้วงงวงข้าวโพด มอดแป้ง มอดข้าวเปลือก และมอดฟันเลื่อย ที่ใช้ทดสอบได้หมดอย่างสมบูรณ์ และเมื่อทดสอบการใช้ก๊าซไนโตรเจนในบรรจุภัณฑ์พบว่า การใส่ก๊าซไนโตรเจนในถุงฟอยด์ ถุง PET ถุง KNY และถุง NY สามารถควบคุมด้วงงวงข้าวโพดได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยถุงทั้ง 4 สามารถกักเก็บก๊าซได้ดี และพบปริมาณของสารพิษแอฟลาทอกซินเพิ่มขึ้นน้อยมากที่ระยะเวลาการเก็บ 6 เดือน การทดสอบการบรรจุสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ ดอกคำฝอย เมล็ดผักชี ดอกเก็กฮวย และชาใบหม่อน พบว่าการบรรจุสมุนไพรในถุง NY/LLDPE และถุง PET/CPP ร่วมกับใส่สารดูดซับออกซิเจนมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงได้ดีแต่ต้องคำนวณปริมาณสารดูดซับออกซิเจนอย่างเหมาะสม การศึกษาประสิทธิภาพการใช้กับดักแสงไฟในโรงเก็บกระเทียมแห้งพบว่า กับดักแสงไฟแบบติดผนังมีประสิทธิภาพดีกว่ากับดักแสงไฟแบบตั้งพื้น โดยกับดักแสงไฟแบบติดผนังดักจับดักด้วงปีกตัดได้ดีกว่า 10 เท่า

          กิจกรรมการศึกษาชีววิทยา นิเวศวิทยา และการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรพบว่า ในโรงเก็บลำไยอบแห้งใช้กับดักแสงไฟแบบติดผนังระยะสูงจากพื้น 2 เมตร ร่วมกับการใช้สารรม aluminium phosphide อัตรา 1 tablet ต่อพื้นที่กองรม 1 ลูกบาศก์เมตร กำจัดด้วงผลไม้แห้ง, Dry fruit beetle; Carpophilus hemipterus Linn. ได้ผลดี และจากการสำรวจในโรงเก็บข้าวเมล็ดโพด 33 ตัวอย่าง จาก 7 จังหวัด พบแมลงศัตรูข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว 6 ชนิด ได้แก่ มอดแป้ง มอดหนวดยาว ด้วงงวงข้าวโพด มอดข้าวเปลือก เหาหนังสือ และมอดฟันเลื่อย โดยว่าด้วงงวงข้าวโพด 1 คู่ สามารถเพิ่มปริมาณได้ถึง 10 เท่าในเวลา 6 เดือน และพบว่ามอดแป้งเป็นแมลงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เมล็ดข้าวโพดได้มากกว่าแมลงชนิดอื่นๆ

          กิจกรรมการศึกษาความต้านทานฟอสฟีนของแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร จากการสุ่มเก็บตัวอย่างมอดแป้ง ในโรงสีทั่วประเทศไทย จำนวน 125 โรงสี พบว่ามอดแป้งจาก 4 โรงสี ต้านทานต่อสารรมฟอสฟีน คิดเป็น 3.20 เปอร์เซ็นต์ของโรงสีที่เก็บตัวอย่างมาทั้งหมด และมอดแป้งจาก 121 โรงสี คิดเป็น 96.8 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่พบการสร้างความต้านทานต่อสารรมฟอสฟีน ผลการการทดสอบในมอดหนวดยาวจากโรงสีและโรงเก็บข้าวโพดจำนวน 47 แหล่ง จากทั้ง 4 ภาค 22 จังหวัด ผลการทดสอบพบมอดหนวดยาวต้านทาน 33 แหล่ง หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยพบมอดหนวดยาวสายพันธุ์ต้านทานกระจายตัวในทุกภาค และจากสายพันธุ์ต้านทานพบมีมอดหนวดยาวที่แสดงความต้านทานรุนแรงเพียง 2 แหล่ง หรือ 6 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   190_2558.pdf (ขนาด: 1.91 MB / ดาวน์โหลด: 3,436)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม