การจัดการโรคและสารพิษจากเชื้อราในผลิตผลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวโดยไม่ใช้สารเคมี
#1
โครงการวิจัยการจัดการโรคและสารพิษจากเชื้อราในผลิตผลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวโดยไม่ใช้สารเคมี
ชวเลิศ ตรีกรุณาสวัสดิ์, นารีรัตน์ สุนทรธรรม, เนตรา สมบูรณ์แก้ว, บุญญวดี จิระวุฒิ, รัตตา สุทธยาคม, รัมม์พัน โกศลานันท์, วัชรี วิทยวรรณกุล, สุพี วนศิรากุล, อมรา ชินภูติ, อัจฉราพร ศรีจุดานุ และอารีรัตน์ การุณสถิตชัย

          การสูญเสียของผลผลิตจากโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยวและสารพิษจากเชื้อราเป็นปัญหาสำคัญ แต่การควบคุมความสูญเสียดังกล่าวด้วยวิธีการที่ปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น คณะผู้วิจัยให้ความสำคัญกับคุณภาพและการลดการสูญเสียของผลผลิต จึงได้เริ่มดำเนินการ โครงการวิจัยการจัดการโรคและสารพิษจากเชื้อราในผลิตผลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวโดยไม่ใช้สารเคมี ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2558 ประกอบไปด้วย 5 กิจกรรม 23 การทดลอง โดยมีวัตถุประสงค์ คือ “เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยว การปนเปื้อนจุลินทรีย์และสารพิษจากเชื้อราในผลิตผลเกษตรโดยไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช” โครงการประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดังนี้

          กิจกรรมที่ 1 การควบคุมโรคและสารพิษจากเชื้อราด้วยจุลินทรีย์ ได้ศึกษาเชื้อจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการควบคุมโรคและสารพิษจากเชื้อรา พบเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtillis หรือ B. amyloliquefaciens ที่สามารถควบคุมโรคผลเน่าของเงาะและผลิตเป็นชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคผลเน่าของเงาะหลังการเก็บเกี่ยวได้ แบคทีเรีย Bacillus tequilensis และ Bacillus subtilis sub sp. Inaquosorum ควบคุมเชื้อรา Aspergillus flavus และยับยั้งการสร้างสารแอฟลาทอกซินในผลิตผลเกษตร และพบเชื้อรา A. flavus สายพันธุ์ไม่สร้างสารพิษที่เป็นปฏิปักษ์กับเชื้อราที่สร้างสารพิษและสามารถลดปริมาณสารแอฟลาทอกซินในข้าวโพดได้

          กิจกรรมที่ 2 การควบคุมโรคและสารพิษจากเชื้อราด้วยสารสกัดจากพืช ได้ศึกษาสารสกัดจากพืชพบว่า ข่า สารสกัดไพล และขมิ้นชันสามารถยับยั้งเชื้อราและควบคุมโรคโรคแอนเทรคโนสบนผลมะม่วง กล้วยหอม และมะละกอ สารสกัดจากผงเปลือกผลทับทิมความเข้มข้น 12,000 ppm สามารถยับยั้งเชื้อ E. coli ลดการปนเปื้อนในผักสะระแหน่ระหว่างการเก็บรักษาได้ สารสกัดกระเทียมควบคุมเชื้อราและสารแอฟลาทอกซินในพริกแห้งและพริกป่นนานถึง 4 เดือน และสารสกัดกระชายดำและกะเพราในการควบคุมการเจริญของเชื้อ Aspergillus flavus และลดปริมาณสารแอฟลาทอกซิน บนถั่วลิสงหลังจากเคลือบเป็นเวลา 1 เดือน

          กิจกรรมที่ 3 การควบคุมโรคโดยใช้สารกลุ่ม GRAS ได้ศึกษาสารกลุ่ม GRAS พบว่า acetic acid และ oxalic acid สามารถควบคุมโรคแอนแทรคโนสใน มะละกอ กล้วยหอม มะม่วง และแก้วมังกรที่ปลูกเชื้อ และ oxalic acid ควบคุมโรคที่เกิดโดยธรรมชาติบนผลมะละกอได้ สาร methyl salicylate มีศักยภาพในการควบคุมโรคผลเน่าของผลเงาะและลองกองที่เกิดจากเชื้อ Phomopsis sp. ขณะที่ citric acid สามารถยับยั้งการเจริญเชื้อรา Dothiorella sp. ในห้องปฏิบัติการ (in vitro) แต่ sodium metabisulphite ยับยั้งโรคบนผลมะม่วง (in vivo) ส่วน propionic acid และ sodium carbonate ที่ความเข้มข้น 0.08 และ 3.0 % ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Colletotrichum sp. ได้ และพบว่าการล้างยอดสะระแหน่ ด้วย citric acid สามารถควบคุมปริมาณจุลินทรีย์ E. coli

          กิจกรรมที่ 4 การควบคุมโรคและสารพิษจากเชื้อราโดยวิธีทางกายภาพ ได้ศึกษาวิธีทางกายภาพพบว่า การใช้เตาอบไมโครเวฟลดปริมาณโอคราทอกซินเอ ในตัวอย่างผลไม้อบแห้ง เช่น แครนเบอรรี่ และลูกเกดขาว ลดปริมาณแอฟลาทอกซินในงาดำ ลดสารพิษฟูโมนิซินในข้าวบาร์เลย์ และคอร์นเฟลก (cornflake) ได้ ขณะที่การใช้เตาอบลมร้อน สามารถลดโอคลาทอกซินเอใน แครนเบอร์รี่อบแห้ง ลูกเกดขาว และบลูเบอร์รี่อบแห้ง ลดแอฟลาทอกซินใน ถั่วลิสง ข้าวกล้อง งาดำ และข้าวเหนียวดำได้ และพบว่า การอาบแสง UV ลดการปนเปื้อนของสารพิษฟูโมนิซินในข้าวบาร์เลย์ได้

          กิจกรรมที่ 5 การควบคุมโรคและสารพิษจากเชื้อราโดยการประเมินโรคและการผสมผสานวิธีการ ได้ศึกษาการผสานวิธีควบคุมและการประเมินการเกิดโรคและความเสี่ยง พบว่าการจุ่มผลมะม่วงในสารละลาย paraquat สามารถกระตุ้นการแสดงอาการโรคแอนแทรคโนสให้แสดงอาการภายใน 3 วัน การใช้ ammonium carbonate และ potassium carbonate ในน้ำร้อนอุณหภูมิ 55 °C สามารถควบคุมโรคแอนแทรคโนสในแก้วมังกรพันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง มะละกอพันธุ์ปักไม้ลาย และมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ได้ ขณะที่การใช้น้ำร้อนร่วมกับ potassium sorbate ยับยั้งโรคแอนแทรคโนสบนผลพริกหวานได้ การจุ่มหัวพันธุ์พันธุ์ปทุมมาด้วยน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชัน ตะไคร้หอม กะเพรา และกานพลู สามารถควบคุมโรคจากเชื้อ Fusarium sp. ได้ ส่วนกระบวนการผลิตผักสะระแหน่เพื่อส่งออกพบว่า ขั้นตอนการล้างหลังจากเก็บเกี่ยวที่แปลงปลูกเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด รองลงมาคือขั้นตอนการล้างในโรงคัดบรรจุ และการควบคุมอุณหภูมิในขณะขนส่ง ในการควบคุมเชื้อราบนผลลองกองพบว่าการใช้ 1-MCP และ chitosan ร่วมกับบรรจุภัณฑ์ active film สามารถชะลอการหลุดร่วง ลดการเกิดสีน้ำตาล และลดการเกิดโรคได้ และการให้รังสี UV แก่แง่งขิง ร่วมกับการบ่มในสภาพความชื้นสัมพัทธ์สูงสามารถเร่งการสมานบาดแผลให้เร็วขึ้นได้

          ผลการทดลองภายใต้โครงการสามารถนำไปใช้เป็นวิธีการทางเลือกแก่ผู้ประกอบการนำไปใช้ควบคุมโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยวและสารพิษจากเชื้อราในผลิตผลเกษตร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค


ไฟล์แนบ
.pdf   189_2558.pdf (ขนาด: 1.11 MB / ดาวน์โหลด: 12,349)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม