วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจำปาดะในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจำปาดะในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
ภาวินี คามวุฒิ, ก้องกษิต สุวรรณวิหค, อารมณ์ โรจน์สุจิตร และอนงค์นาฏ พรหมทสาร

          จำปาดะเป็นพืชป่าที่ขึ้นกระจายในท้องถิ่นภาคใต้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus integer (Thunb.) Merr. วงศ์ Moraceae เป็นไม้ยืนต้นลักษณะคล้ายขนุน ลำต้นสีน้ำตาลและมักมีจุดสีขาวตลอดทั้งต้น ใบและผลของจำปาดะคล้ายขนุนเช่นกัน ใบจะมีปุยขนสั้นๆ หากจับดูจะรู้สึกระคายมือ ส่วนลักษณะผลนั้นรูปทรงยาวบ้างสั้นบ้างขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สีผิวเปลือกเมื่อแก่ใกล้จะสุกมีสีเหลืองอมส้ม ลักษณะของสียวงมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีเหลืองทอง เหลืองอ่อน เหลืองอมส้ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ส่วนรสชาติหวานหอม และหวานแหลม สภาพการทำสวนมักจะปลูกผสมร่วมกับไม้ผลชนิดอื่นๆ และเป็นสวนที่เก่าแก่ปลูกมาตั้งแต่ดั้งเดิม มีพันธุ์หลากหลายเนื่องจากปลูกโดยใช้เมล็ด

          ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง จึงได้ทำการสำรวจและศึกษาแหล่งปลูกและสายต้นพันธุ์ดีจากสวนเกษตรกร จากแหล่งปลูกต่างๆ ในภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 - 2556 ทำการบันทึกประวัติพันธุ์จำนวน 140 สายต้น (Clone) พบว่า มีจำปาดะที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 10 สาย ต้น (Clone) จากพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา และนครศรีธรรมราช ที่มีคุณลักษณะที่ดีเป็นที่ต้องการของตลาด โดยนำสายต้นเหล่านี้ปลูกทดสอบเพื่อศึกษาการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต และคุณภาพของผลผลิต จากการปลูกทดสอบการเจริญเติบโตพบว่า มีความแตกต่างกันในแต่ละสายต้น โดยสายต้น รน.10 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นมากที่สุด คือ 1.80 เซนติเมตร รองลงมา คือ สายต้น รน.8 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 1.09 เซนติเมตร และสายต้น รน.2 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นน้อยที่สุด คือ 0.75 เซนติเมตร ความสูงพบว่า สายต้น รน.10 มีความสูงมากที่สุด คือ 95.60 เซนติเมตร รองลงมาคือ สายต้น รน.8 มีความสูง 81.18 เซนติเมตร และสายต้น รน. 9 มีความสูงน้อยที่สุด คือ 34.78 เซนติเมตร

          การศึกษาสภาพการผลิตจำปาดะในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยวิธีการสุํมแหล่งปลูกแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) ใช้แบบสัมภาษณ์เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร ส่วนที่ 2 ข้อมูลสภาพการผลิต และส่วนที่ 3 ข้อมูลสภาพการตลาด เก็บรวบรวมข้อมูลในเขตจังหวัดพังงา ระนอง และนครศรีธรรมราช ได้เกษตรกรตัวอย่างทั้งหมด 106 ราย จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ผลิตจำปาดะอายุมากกว่า 60 ร้อยละ 50.94 ประกอบอาชีพเกษตรกรร้อยละ 66.40 การศึกษาของเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษาร้อยละ 82.08 เกษตรกรมีรายได้จากการทำการเกษตรพืชจำปาดะ 30,001 - 40,000 บาทต่อปี สภาพพื้นที่เป็นที่ราบร้อยละ 89.62 ลักษณะเนื้อดินเป็นดินร่วนร้อยละ 72.64 แหล่งน้ำที่ใช้จะอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติร้อยละ 83.02 ต้นจำปาดะส่วนใหญ่อายุ 11 - 20 ปี ร้อยละ 50.00 แหล่งพันธุ์ที่นำมาปลูกส่วนใหญ่ไม่ทราบแน่ชัดร้อยละ 56.60 การปลูกจำปาดะจะปลูกเป็นพืชผสมผสานคิดเป็นร้อยละ 69.81 ใส่ปุ๋ย 2 ครั้งต่อปีร้อยละ 54.72 ไม่มีการตัดแต่งทรงพุ่มร้อยละ 79.25 มีข้อพิจารณาในการเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่สังเกตจากผลสุกถึงจะเก็บเกี่ยวได้ร้อยละ 85.85 มีการห่อผลผลิตด้วยถุงดำมากที่สุดร้อยละ 56.60 การเก็บเกี่ยวเก็บเกี่ยวเองร้อยละ 85.85 การกำจัดวัชพืชส่วนใหญ่จะใช้มีดในการกำจัดวัชพืชร้อยละ 66.98 รูปแบบการจำหน่ายผลผลิตส่วนใหญ่จะอาศัยพ่อค้าคนกลางในการจำหน่ายร้อยละ 59.43 ส่วนใหญ่จะไม่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ร้อยละ 97.17 เกษตรกรในจังหวัดพังงาจำนวน 3 ราย มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจำปาดะแบบผลสดเฉลี่ย 883 บาทต่อต้น ต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 238 บาทต่อต้น ทำให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 645 บาทต่อต้น ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 3.71 จังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกรจำนวน 2 ราย มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจำปาดะแบบผลสดเฉลี่ย 1,750 บาทต่อต้น ต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 493 บาทต่อต้น ทำให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1,257 บาทต่อต้น ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 3.55 และจังหวัดระนอง เกษตรกรจำนวน 3 ราย มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจำปาดะแบบผลสดเฉลี่ย 1,737 บาทต่อต้น ต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 526 บาทต่อต้น ทำให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1,201 บาทต่อต้น ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 3.30


ไฟล์แนบ
.pdf   157_2558.pdf (ขนาด: 617.22 KB / ดาวน์โหลด: 3,413)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม