การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตชมพู่
#1
การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตชมพู่
วลัยภรณ์ ชัยฤทธิไชย

          เกษตรกรผู้ปลูกชมพู่มีความต้องการผลิตชมพู่ให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดปี มีคุณภาพสม่ำเสมอตลอดฤดูการผลิต และลดปัญหาผลเน่าเสีย ในปี 2554 - 2558 ได้ทำการทดลองเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี สำนักอารักขาพืช และสวนเกษตรกร กระจายการออกดอกติดผลให้ได้ตลอดปี ได้ทำการบังคับออกดอกทีละชุดห่างกัน 2 - 4 เดือน เพื่อให้ชมพู่ออกดอกได้ในช่วงเวลาต่างกัน และออกดอกติดผลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ผลการทดลองพบว่า การบังคับดอกก่อนฤดูกาลทุกกรรมวิธีมีจำนวนรุ่นที่ออกดอกต่อเนื่อง 2 - 3 รุ่นจากรุ่นแรก ได้ผลผลิตมากกว่าการบังคับดอกหลังฤดูการออกดอกซึ่งมีการออกดอกต่อเนื่องได้ 0 - 1 รุ่น การพ่นสารแพคโคลบิวทราโซล 400 ppm (มก./ล.) ทั่วทรงพุ่มเพื่อบังคับดอกหรือการพ่นสารนี้ร่วมกับการพ่นปุ๋ย 0-52-34 (100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร) ให้จำนวนต้นที่ออกดอก จำนวนดอก/รุ่น ผลผลิต/รุ่น สูงสุดแต่ไม่พบความแตกต่างทางสถิติของ 2 กรรมวิธีนี้ และให้ค่ามากกว่าการพ่นปุ๋ยสูตร 0-52-34 และการไม่พ่นสารใด ส่วนการเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้มีคุณภาพดีพบว่า การใช้สารจิบเบอเรลลิกแอซิด (GA3) ความเข้มข้น 30 ppm พ่นหลังดอกบาน 3 วัน หรือพ่นสารผสมแคลเซียมและโบรอน (Ca = 40%w/v, B = 0.3%w/v) อัตรา 10 มล. ผสมน้ำ 20 ลิตร หลังดอกบาน 14 วัน หรือใช้สารทั้ง 2 ชนิดนี้พ่นตามระยะดังกล่าวข้างต้น ทั้ง 3 กรรมวิธีนี้ให้น้ำหนักผล ความหวาน มีค่าสูงสุดแต่ไม่พบความแตกต่างกันทางสถิติ และมีค่ามากกว่าการไม่พ่นสารอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การเลือกไว้ผลที่มีอายุต่างกันไม่เกิน 7 วัน (1 - 7 วัน) ในต้นเดียวกัน ร่วมกับการพ่นสารจิบเบอเรลลิกแอซิดหรือร่วมกับสารผสมแคลเซียมและโบรอนให้น้ำหนักผล ความหวาน และผลผลิต/ต้น/รุ่น มีค่ามากกว่าการไว้ผลที่ไม่ได้รับการพ่นสารใดๆ แต่การไว้ผลร่วมกับการพ่นสารผสมแคลเซียมและโบรอนมีแนวโน้มให้ค่าความหวาน และความแน่นเนื้อมากกว่ากรรมวิธีอื่น ส่วนวันจากดอกบานถึงวันเก็บเกี่ยวผลทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างทางสถิติ มีจำนวนวัน 52.43 - 55.52 วัน ส่วนการศึกษาปัญหาโรคผลเน่าของชมพู่ พบตัวอย่างชมพู่เป็นโรคผลเน่าจาก 22 สวน จำแนกได้เป็นเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides และ Pestalotiopsis guepinii ได้ทำการทดสอบผลของสารสกัดจากพืชและสารป้องกันกำจัดโรคพืชต่อการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคผลเน่าของชมพู่ทั้ง 2 ชนิด ในสภาพห้องปฏิบัติการพบว่า สารสกัดข่าด้วยตัวทำละลาย acetone และ hexane และสารสกัดชะพลูด้วย acetone สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคทั้ง 2 ชนิดได้ เช่นเดียวกับการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอะซอกซีสโตรบิน, อะซอกซีสโตรบิน + ไดฟิโนโคลนาโซล, แคปแทน, แมนโคเซบ และโปรคลอราซ ตามอัตราความเข้มข้นที่แนะนำบนฉลาก ในปี 2558 ทำการทดสอบสารป้องกันกำจัดโรคพืช 4 ชนิด ที่สวนเกษตรกร คือ อะซอกซีสโตรบิน (25% W/V SC) อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, คาร์เบนดาซิม (50% W/V SC) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, โปรคลอราซ (45%W/V EC) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และแมนโคเซบ (80%WP) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยมีกรรมวิธีพ่นน้ำเปล่าเป็นกรรมวิธีควบคุม ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีพ่นด้วยสารอะซอกซีสโตรบิน (25%W/V SC) อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลการควบคุมโรคผลเน่าไม่แตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีพ่นด้วยโปรคลอราซ (45%W/V EC) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และแมนโคเซบ (80%WP) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แต่น้ำหนักรวมและจำนวนผลผลิตที่ได้มีมากกว่าซึ่งกรรมวิธีพ่นด้วยสารทั้ง 3 ชนิด ให้ผลการควบคุมโรคดีกว่าและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีพ่นด้วยคาร์เบนดาซิม (50%W/V SC) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และกรรมวิธีควบคุมพ่นน้ำเปล่า


ไฟล์แนบ
.pdf   152_2558.pdf (ขนาด: 1,006.55 KB / ดาวน์โหลด: 1,377)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม