โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตครามพื้นที่จังหวัดสกลนคร
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตครามพื้นที่จังหวัดสกลนคร
จุฑามาส ศรีสำราญ, บุญเชิด วิมลสุจริต, ญาณิน สุปะมา, วัชราพร ศรีสว่างวงศ์, ปริยานุช สายสุพรรณ์ และณัฏฐ์ชยธร ขัตติยะพุฒิเมธ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3

          การศึกษาอิทธิพลของปุ๋ยต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิตครามพันธุ์ฝักตรงและฝักงอ ดำเนินการในพื้นที่แปลงทดลองภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของปุ๋ยต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิตครามรวมถึงปริมาณเนื้อและความเข้มสีครามพันธุ์ฝักตรงและฝักงอ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 – 2558 โดยในปี 2557 วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี ได้แก่ ไม่ใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 250 และ 500 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 18-46-0 อัตรา 17 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 อัตรา 10 15 และ 20 กิโลกรัมต่อไร่ ผลการทดลองในครามพันธุ์ฝักตรงพบว่า ทุกกรรมวิธีทดลองให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนักต้นครามสด น้ำหนักเนื้อครามเปียก และเปอร์เซ็นต์เนื้อครามในใบคราม 100 กรัม ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ในขณะที่ความเข้มสีครามมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ โดยพบว่ากรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยให้ค่าความเข้มสีสูงสุด คือ 0.786 รองลงมา คือ การให้ปุ๋ยคอก อัตรา 250 และ 500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งให้ความเข้มสี 0.605 และ 0.544 ตามลำดับ สำหรับผลการทดลองในครามพันธุ์ฝักงอพบว่า ทุกกรรมวิธีทดลองให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนักต้นครามสด น้ำหนักเนื้อครามเปียก ความเข้มสีคราม และเปอร์เซ็นต์เนื้อครามในใบคราม 100 กรัม ไม่แตกต่างกันทางสถิติ สำหรับการดำเนินงานในปี 2558 วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี ได้แก่ ไม่ใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีไนโตรเจน (N) อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัส (P2O5) อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียม (K2O) อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนอัตรา 6 12 และ 18 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับฟอสฟอรัสอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียมอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ผลการทดลองในครามพันธุ์ฝักตรงพบว่า ทุกกรรมวิธีทดลองให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนักต้นครามสด น้ำหนักเนื้อครามเปียก และเปอร์เซ็นต์เนื้อครามในใบคราม 100 กรัม ไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนักต้นครามสด และน้ำหนักเนื้อครามเปียก เท่ากับ 2,573.3 และ 261.3 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ในขณะที่ความเข้มสีคราม มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกรรมวิธีการให้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับฟอสฟอรัสอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียมอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ค่าความเข้มสีครามสูงสุดเท่ากับ 0.937 สำหรับครามพันธุ์ฝักงอพบว่า ค่าเฉลี่ยน้ำหนักต้นครามสด น้ำหนักเนื้อครามเปียก และความเข้มสีคราม มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนอัตรา 12 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับฟอสฟอรัสอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียมอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนักต้นครามสด และน้ำหนักเนื้อครามเปียกมากที่สุด คือ 2,240 และ 300 กิโลกรัมต่อไร่ และให้ค่าความเข้มสีสูงสุด คือ 2.3978 สำหรับเปอร์เซ็นต์เนื้อครามในใบคราม 100 กรัม พบว่าทุกกรรมวิธีทดลองไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ

          สำหรับการศึกษาระยะปลูกที่เหมาะสมต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิตในครามพันธุ์ฝักตรง วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ 4 กรรมวิธี คือ ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 60 เซนติเมตร และระยะปลูกระหว่างต้น 20 30 40 และ 50 เซนติเมตร ตามลำดับ ผลการทดลองในปี 2557 พบว่า ระยะปลูกทุกกรรมวิธี ให้ค่าเฉลี่ยความสูง ความเข้มสีคราม และเปอร์เซ็นต์เนื้อครามในใบคราม 100 กรัม ไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยให้ค่าเฉลี่ยความสูงต้นเท่ากับ 160 เซนติเมตร ค่าความเข้มสีคราม 0.074 และเปอร์เซ็นต์เนื้อครามในใบคราม 100 กรัม เฉลี่ยร้อยละ 50.81 ขณะที่ จำนวนกิ่งต่อต้น น้ำหนักต้นครามสด และน้ำหนักเนื้อครามเปียก มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยที่ระยะปลูก 60 x 20 เซนติเมตร ให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนักต้นครามสดสูงสุด 2,160 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ระยะปลูก 60 x 50 เซนติเมตร ให้ค่าเฉลี่ยจำนวนกิ่งต่อต้น และน้ำหนักเนื้อครามเปียกสูงสุด คือ 55.7 กิ่งต่อต้น และ 220 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ สำหรับการทดลองในปี 2558 พบว่า ระยะปลูกทุกกรรมวิธี ให้ค่าเฉลี่ยความสูง น้ำหนักต้นครามสด น้ำหนักเนื้อครามเปียก ความเข้มสีคราม และเปอร์เซ็นต์เนื้อครามในใบคราม 100 กรัม ไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยให้ค่าเฉลี่ยความสูงเท่ากับ 171.5 เซนติเมตร น้ำหนักต้นครามสด และน้ำหนักเนื้อครามเปียก เฉลี่ย 1,890 และ 188 กิโลกรัมต่อไร่ ความเข้มสีคราม 0.994 และเปอร์เซ็นต์เนื้อครามในใบคราม 100 กรัมเฉลี่ยร้อยละ 50.83 ในขณะที่จำนวนกิ่งต่อต้นมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยที่ระยะปลูก 60 x 50 เซนติเมตร ให้จำนวนกิ่งต่อต้นสูงสุด 25.98 กิ่งต่อต้น


ไฟล์แนบ
.pdf   150_2558.pdf (ขนาด: 498.95 KB / ดาวน์โหลด: 3,018)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม