วิจัยและพัฒนาพันธุ์มะละกอ
#1
วิจัยและพัฒนาพันธุ์มะละกอ
ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, สุภาวดี สมภาค, รัชนี ศิริยาน, ศิริลักษณ์ พุทธวงค์, สิทธิพงษ์ ศรีสว่างวงศ์, อำนวย อรรถลังรอง, ปริเชษฐ์ ตั้งกาจนภาสน์, ศิริลักษณ์ พุทธวงค์, จันทนา โชคพาชื่น, ศิริวรรณ อำพันฉาย, สรรเสริญ เสียงใส, จารุวรรณ์ ต้นโพธิ์, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, กาญจนา วาระวิชะนี, วไลลักษณ์ แพทย์วิบูลย์, ทรงพล สมศรี และรักชัย คุรุบรรเจิดจิต
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น, สถาบันวิจัยพืชสวน, สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

          มะละกอเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ใช้ทั้งผลดิบและผลสุกบริโภค ได้รับความนิยมบริโภคทั่วไปทุกภูมิภาค โดยมีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่การปลูกกลับลดลงทุกปี สาเหตุหลักมาจากปัญหาโรคระบาด เช่น PRSV โรคเน่า การขาดแคลนพันธุ์ดี พันธุ์มีราคาสูง เป็นต้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต จึงได้ทำแผนงานวิจัยให้สอดคล้องกับปัญหา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงพันธุ์มะละกอโดยวิธีคัดเลือกพันธุ์ ผสมพันธุ์และทดสอบพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ (พันธุ์แท้) และพันธุ์ลูกผสม ดังนี้ รวบรวมพันธุ์ได้ 24 พันธุ์ คัดเลือกได้มะละกอพันธุ์แท้ พันธุ์แขกดำ 10 สายพันธุ์ พันธุ์แขกนวล 10 สายพันธุ์ ผสมพันธุ์มะละกอ 21 คู่ผสม ได้มะละกอลูกผสมแล้วคัดเลือกเป็นพันธุ์แท้จำนวน 8 สายพันธุ์ นำไปทดสอบในแหล่งปลูกต่างๆ ได้ 4 สายพันธุ์ที่ดีเด่น นอกจากนี้พันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 จำนวน 7 พันธุ์ (คู่ผสม) ถูกนำไปทดสอบในแหล่งปลูกต่างๆ ได้พันธุ์ดีเพื่อใช้ประโยชน์ในแต่ละแหล่งปลูก แหล่งละ 1 พันธุ์ ทดสอบระดับความทนทานโรค PRSV ด้วยวิธี ELISA ในแปลงปลูกกับมะละกอพันธุ์แท้และพันธุ์ลูกผสมพบว่า มีพันธุ์ทนทาน 7 สายพันธุ์ (เกิดโรคระดับ 1) พันธุ์อ่อนแอปานกลาง 14 สายพันธุ์ ที่เหลือเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอและอ่อนแอมาก การปรับปรุงมะละกอพันธุ์ขอนแก่น 80 ให้ทนทานต่อโรคจุดวงแหวนโดยการผสมกลับ พบว่าในรุ่นที่ 3 ที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์และมีแนวโน้มทนทานต่อโรคจุดวงแหวนได้ 2 สายต้น และ การปรับปรุงมะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระให้ทนทานต่อโรคจุดวงแหวน โดยการผสมกลับรุ่นที่ 3 ได้ 2 สายต้น ปลูกและคัดเลือกต้นที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์และมีแนวโน้มทนทานต่อโรคจุดวงแหวน

          ส่วนการปรับปรุงมะละกอให้ต้านทานต่อไวรัสจุดวงแหวนมะละกอด้วยการฉายรังสี การศึกษาเทคโนโลยีการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมมะละกอในสภาพปลอดเชื้อ (TC) และสภาพเยือกแข็ง และการศึกษาเจริญเติบโตของมะละกอพันธุ์ลูกผสมออสเตรเลีย-ฮาวาย ยังไม่รายงานผลการทดลอง จะเห็นว่าการทดลองส่วนใหญ่ยังไม่สิ้นสุดเนื่องจากการวิจัยไม้ผลต้องใช้เวลาในการทดสอบพันธุ์ยาวนาน ประกอบกับบางสถานที่ทดลอง มีปัญหาภัยธรรมชาติ เช่นน้ าท่วม และแล้ง จำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องให้งานสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้


ไฟล์แนบ
.pdf   82_2558.pdf (ขนาด: 2.25 MB / ดาวน์โหลด: 8,177)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม