10-13-2016, 11:11 AM
การหาความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับผลผลิตไม้และสมบัติเนื้อไม้ในยางพารา
ฐิตาภรณ์ ภูมิไชย์, กฤษดา สังข์สิงห์, กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข และเฉลิมพล ภูมิไชย์
กลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยยาง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง และภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ฐิตาภรณ์ ภูมิไชย์, กฤษดา สังข์สิงห์, กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข และเฉลิมพล ภูมิไชย์
กลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยยาง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง และภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ยางพาราที่มีคุณภาพไม้ที่ดีเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าของไม้ยางพารา โดยการใช้เทคนิคทางเครื่องหมายโมเลกุล (Molecular Marker) เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการปรับปรุงพันธุ์ ในการวิจัยนี้ได้ศึกษายีนที่มีความสัมพันธ์กับการแสดงออกในการควบคุมการให้ผลผลิตไม้และสมบัติของเนื้อไม้ในยางพารา เพื่อนำมาสร้างเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ยาง และศึกษาคุณสมบัติทางเคมี คุณสมบัติเชิงกล และปัจจัยด้านอื่นๆ ของไม้ เพื่อตรวจสอบอิทธิพลของสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมแตกต่างกัน สำหรับใช้เป็นดัชนีในการคัดเลือกพันธุ์ยางเพื่อเนื้อไม้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ยางพาราต่อไป ไม้ยางพาราที่คัดเลือกมาศึกษามาจากแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ยางพาราขั้นต้นที่มีอายุ 13 ปี ปลูกในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Design: CRD) ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบทางเคมีของไม้ยางพาราได้แก่ ปริมาณเถ้า สารแทรกที่ละลายในเอทานอล-เบนซีน ลิกนิน โฮโลเซลลูโลส แอลฟาเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และปริมาณการละลายในด่าง (1% NaOH) มีความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ยางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสายพันธุ์ที่มีคุณภาพเนื้อไม้ดีที่สุดและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมไม้ยางพาราได้แก่ สายพันธุ์ RRI-CH-35-1757 เนื่องจากมีปริมาณแอลฟาเซลลูโลสสูงสุดและมีคุณสมบัติการละลายในด่างต่ำ และจากการวิเคราะห์คุณสมบัติเชิงกลของไม้ได้แก่ ปริมาณความชื้น ความถ่วงจำเพาะ โมดูลัสการแตกหัก โมดูลัสความยืดหยุ่น แรงอัดตั้งฉากเสี้ยน แรงเฉือนขนานเสี้ยน แรงดึงตั้งฉากเสี้ยน ความแข็ง และการฉีกของไม้ พบว่ามีความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน โดยสายพันธุ์ที่มีความแข็งแรงเชิงกลสูงสุดได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวจึงน่าจะได้คัดเลือกเพื่อการนำไม้มาใช้เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์ จากการวิเคราะห์ SNP (Single Nucleotide Polymorphism) พบตำแหน่ง SNP ที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตและสมบัติไม้ทั้งหมด 40 ตำแหน่ง ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์ในการนำตำแหน่ง SNP ที่ได้มาใช้เป็นเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ยางที่มีคุณสมบัติไม้ที่ดี ในโครงการการปรับปรุงพันธุ์ยางเพื่อเนื้อไม้ และพันธุ์ยางเพื่อผลผลิตและเนื้อไม้ต่อไป