08-09-2016, 10:31 AM
เทคนิคการเก็บรักษารา Colletotrichum spp.
ธารทิพย ภาสบุตร, อภิรัชต์ สมฤทธิ์, ยุทธศักดิ์ เจียมไชยศรี และพรพิมล อธิปัญญาคม
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ธารทิพย ภาสบุตร, อภิรัชต์ สมฤทธิ์, ยุทธศักดิ์ เจียมไชยศรี และพรพิมล อธิปัญญาคม
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
จากการศึกษาเทคนิคการเก็บรักษารา Colletotrichum spp. ระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนกันยายน 2552 โดยทำการเก็บรักษารา Colletotrichum gloeosporioides และรา C. capsici รวมทั้งหมด 10 ไอโซเลท ด้วยวิธีการต่างๆ 4 วิธี คือ การเก็บรักษาในสภาพแห้งบนกระดาษกรอง การเก็บรักษาในกลีเซอรอล 10 เปอร์เซ็นต์ สภาพเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส การเก็บรักษาในสภาพแห้งสุญญากาศ และการเก็บรักษาในสภาพแห้งบนซิลิกาเจล หลังการเก็บรักษาเป็นเวลา 2, 4, 6 และ 8 เดือน นำราที่เก็บรักษาไว้มาตรวจความมีชีวิต การปนเปื้อนการสร้างโคนิเดีย และความสามารถของราในการทำให้พืชเกิดโรคพบว่า การเก็บรักษาในสภาพแห้งบนกระดาษกรอง และการเก็บรักษาในกลีเซอรอล 10 เปอร์เซ็นต์ สภาพเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส เป็นวิธีการเก็บรักษาที่ดี รา C. gloeosporioides และรา C. capsici สามารถคงความมีชีวิตอยู่ได้ สร้างโคนิเดียได้ดี และพบการปนเปื้อนน้อย จากการทดสอบความสามารถในการทำให้พืชเกิดโรคพบว่า รา C. gloeosporioides และ C. capsici ทุกไอโซเลทที่นำมาปลูกเชื้อสามารถทำให้พืชเป็นโรคได้