สำรวจ รวบรวม และจำแนกรา Fusarium สาเหตุโรคพืช
#1
สำรวจ รวบรวม และจำแนกรา Fusarium สาเหตุโรคพืช
อภิรัชต์ สมฤทธิ์, ยุทธศักดิ์ เจียมไชยศรี, ธารทิพย ภาสบุตร และสุณีรัตน์ สีมะเดื่อ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การรวบรวมและเก็บตัวอย่างพืชเป็นโรคที่คาดว่ามีสาเหตุจากเชื้อรา Fusarium ในพื้นที่เพาะปลูกพืชของเกษตรกรตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 – กันยายน 2552 เมื่อนำตัวอย่างพืชเป็นโรคมาแยกเชื้อราบริสุทธิ์บนอาหาร WA สามารถจำแนกได้เป็นเชื้อรา Fusarium จำนวน 68 ไอโซเลท และเมื่อจำแนกชนิด (species) ของเชื้อราบริสุทธิ์ทั้งหมด โดยอาศัยลักษณะของสัณฐานวิทยา ลักษณะโคโลนีบนอาหาร PDA, CLA และ KCL และจำแนกตามวิธีการของ Nelson และคณะ (1983) สามารถจำแนกได้เชื้อรา Fusarium 6 ชนิด (species) ได้แก่ F. equiseti, F. moniliforme, F. oxysporum, F. proliferatum, F. semitectum และ F. solani ซึ่งเชื้อรา Fusarium ทั้งหมดแยกได้จากพืช 24 ชนิดที่ปลูกในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ กล้วยน้ำว้าเป็นโรคตายพราย กล้วยไม้สกุลแคทรียาเป็นโรคต้นเน่า กล้วยไม้สกุลแดงกิตติเป็นโรคใบไหม้ กล้วยไม้สกุลคาลิบโซ่เป็นโรคใบไหม้ กล้วยไม้สกุลแวนด้าเป็นโรคโคนใบไหม้ดำ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารีเป็นโรคเหี่ยว กล้วยไม้สกุลเอื้องพร้าวเป็นโรคใบจุดและใบไหม้ กล้วยไม้สกุลหวายเป็นโรคใบไหม้ ข้าวเป็นโรคถอดฝักดาบและโรคเมล็ดด่าง ต้นกล้าข้าวเป็นโรคใบจุดสีน้ำตาลดำ ข้าวโพดเป็นโรคลำต้นเน่า หรือโรคเส้นใบแดง ข้าวฟ่างเป็นโรคลำต้นเน่าแดง ขิงเป็นโรคเหี่ยว แตงไทยเป็นโรคเหี่ยวและผลเน่า แตงแคนตาลูปเป็นโรคลำต้นและผลเน่า ถั่วลันเตาเป็นโรคเหี่ยว ปอเทืองเป็นโรคเหี่ยว พริกหยวกเป็นโรคเหี่ยว พริกชี้ฟ้าเป็นโรคเหี่ยว มะเขือเทศเป็นโรคต้นเหี่ยว มะเขือเปราะเป็นโรคเหี่ยว ยาสูบเป็นโรคเหี่ยว หอมใหญ่เป็นโรคเหี่ยว และแอสเตอร์เป็นโรคต้นเหี่ยว


ไฟล์แนบ
.pdf   1262_2552.pdf (ขนาด: 269.88 KB / ดาวน์โหลด: 9,588)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม