ศึกษาปริมาณสารพิษปนเปื้อนบนร่างกายผู้ฉีดพ่นวัตถุมีพิษในแหล่งปลูกมะม่วง: Cypermethrin
#1
ศึกษาปริมาณสารพิษปนเปื้อนบนร่างกายผู้ฉีดพ่นวัตถุมีพิษในแหล่งปลูกมะม่วง: Cypermethrin
ปรีชา ฉัตรสันติประภา และภิญญา จุลินทร

          การศึกษาปริมาณสารพิษปนเปื้อนบนร่างกายผู้ฉีดพ่นวัตถุมีพิษ เพื่อประเมินความเสี่ยงภัยจากการใช้ cypermethrin ในแปลงมะม่วง ทำการศึกษาที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ฉีดพ่นสารพิษ cypermethrin สูตร 35% EC ทุกๆ 2 สัปดาห์ รวม 7 ครั้ง ตั้งแต่มะม่วงเริ่มติดผลมีขนาดโตเท่าหัวไม้ขีด จนกระทั่งได้เวลาเก็บเกี่ยว เริ่มทำการฉีดพ่นเดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ในอัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 200 ลิตร ซึ่งเป็นอัตราฉีดพ่นสูงสุดตามที่แนะนำบนฉลาก ภายหลังการฉีดพ่น ทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารพิษ cypermethrin บนแผ่นผ้าที่ติดตามจุดต่างๆ ได้แก่ หมวก จมูก บ่า อก (นอก - ใน) ข้อศอก หลัง (นอก - ใน) ต้นขา และหน้าแข้ง (นอก - ใน) บนร่างกายของผู้ฉีดพ่น และผู้ช่วยลากสายยางฉีดพ่น รวมทั้งน้ำล้างมือภายหลังการฉีดพ่นด้วย นอกจากนี้ยังตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารพิษ cypermethrin บนเสื้อและกางเกงของทั้งผู้ฉีดพ่นและผู้ช่วยลากสายยางด้วย ผลการทดลองฉีดพ่นทั้ง 7 ครั้ง พอสรุปได้ว่าจุดบนร่างกายที่ผู้ฉีดพ่นมีโอกาสสัมผัสกับละอองวัตถุมีพิษมากที่สุดระหว่างการฉีดพ่นคือ บริเวณศีรษะพบเฉลี่ย 113.08 μg/100 cm2 รองลงมาได้แก่บ่า ต้นขา และหน้าแข้ง ปริมาณที่พบเฉลี่ย 96.13, 82.53 และ 75.76 μg/100 cm2 ส่วนข้อศอก หลัง อก และจมูก มีโอกาสสัมผัสกับละอองวัตถุมีพิษลดลงมาตามลำดับ ปริมาณที่พบเฉลี่ย 69.19, 48.34, 41.68 และ 40.72 μg/100 cm2 ตามลำดับ สำหรับผู้ช่วยลากสายฉีดพ่น ลักษณะการปนเปื้อนบนร่างกายก็สอดคล้องคล้ายกับของผู้ฉีดพ่น เพียงแต่ปริมาณการปนเปื้อนจะพบน้อยกว่า ทั้งนี้เพราะผู้ลากสายอยู่ห่างจากผู้ฉีดพ่น แต่น้ำล้างมือภายหลังการฉีดพ่นของผู้ช่วยลากสายจะพบปริมาณสารพิษ cypermethrin ในปริมาณเฉลี่ย 84.35 ไมโครกรัม/ลิตร ซึ่งพบมากกว่าน้ำล้างมือของผู้ฉีดพ่นที่พบเฉลี่ย 38.92 ไมโครกรัม/ลิตร ทั้งนี้เนื่องจากสายฉีดพ่นที่ลากไปกับพื้นดินในแปลงมะม่วงระหว่างทำการฉีดพ่น มีโอกาสสัมผัสกับวัตถุมีพิษอยู่ตลอดเวลา ส่วนชุดที่ใช้สวมใส่ในระหว่างที่ทำการฉีดพ่น พบว่าชุดของผู้ฉีดพ่นมีปริมาณ cypermethrin ตกค้างมากกว่าชุดเสื้อผ้าของผู้ช่วยลากสายยาง และจะพบสารพิษตกค้างที่เสื้อมากกว่าที่กางเกง นอกจากนี้ได้ศึกษาปริมาณการปนเปื้อนบนมือของผู้เก็บมะม่วงที่ระยะเวลาต่างๆ หลังการฉีดพ่น ของการฉีดแต่ละครั้ง พบการปนเปื้อนที่มือในปริมาณที่ไม่มาก และเมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินความเสี่ยงภัยจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร ได้ค่า MOE มากกว่า 100 ซึ่งมีความหมายว่ายังไม่เกินค่าความเสี่ยงภัยที่จะเกิดอันตรายต่อเกษตรกรผู้ฉีดพ่นและผู้ที่ปฏิบัติงานในแปลง


ไฟล์แนบ
.pdf   925_2551.pdf (ขนาด: 955.03 KB / ดาวน์โหลด: 491)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม