การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติ
#1
การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติ
ปริญญา สีบุญเรือง, สุริพัฒน์ ไทยเทศ, อมรา ไตรศิริ และศิวิไล ลาภบรรจบ
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ชัยนาท

          การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายให้มีเส้นใยสีธรรมชาติ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตฝ้ายและยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการฟอกย้อม ดังนั้น จึงทำการผสมพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 2 กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว ในปี 2543 และทำการผสมกลับ 4 ชั่ว ระหว่างปี 2544 - 2545 โดยในการผสมกลับแต่ละครั้งทำการเก็บรวมเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียว จากนั้นทำการปลูก BC4F1 ในปี 2546 แล้วทำการเก็บรวมเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียว แล้วนำไปปลูกเป็น BC4F2 ในปี 2547 สามารถคัดเลือก และเก็บเมล็ดรายต้นเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียวจำนวน 574 ต้น แล้วจึงนำมาปลูกคัดเลือกแบบต้นต่อแถวในชั่วที่ BC4F3 เมื่อปี 2548 สามารถคัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตสูงคุณภาพเส้นใยดีและมีสีเขียวได้ 66 ต้น จาก 30 แถว จึงทำการปลูกคัดเลือกแบบต้นต่อแถวในปี 2549 ในชั่วที่ BC4F4 จำนวน 66 แถว และปลูกคัดเลือกแบบสมอต่อแถว จำนวน 90 แถว แล้วคัดเลือกแถว ที่มีทรงต้นโปร่งมีความสม่ำเสมอที่ดีและมีเส้นใยสีเขียวได้ 27 สายพันธุ์ จึงได้นำไปปลูกคัดเลือกในชั่วที่ BC4F5 ปี 2550 โดยสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ ที่มีทรงต้นโปร่งและมีความสม่ำเสมอที่ดี ตลอดจนมีเส้นใยสีเขียวได้ 20 สายพันธุ์ โดยมีค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์หีบ 24.4 เปอร์เซ็นต์ ความยาวเส้นใยเฉลี่ย 1.20 นิ้ว ความเหนียวเฉลี่ย 22.5 กรัมต่อเท็กซ์ ความสม่ำเสมอเฉลี่ย 49 และความละเอียดอ่อนเฉลี่ย 2.0 ซึ่งได้นำสายพันธุ์ดังกล่าว ไปทำการประเมินผลผลิตในปี 2551


ไฟล์แนบ
.pdf   655_2551.pdf (ขนาด: 535.25 KB / ดาวน์โหลด: 578)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม