เดินหน้าค้นคว้าพัฒนาพืชท้องถิ่นในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก
#1
เดินหน้าค้นคว้าพัฒนาพืชท้องถิ่นในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก
สาลี่  ชินสถิต
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๖ 

          ภาคตะวันออกประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีพื้นที่ประมาณ 21 ล้านไร่ ในปี 2554 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 12,267,013 ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556) คิดเป็นร้อยละ 58 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกที่สำคัญแล้ว ยังมีพืชท้องถิ่นที่มีความสำคัญในพื้นที่ ที่มีมูลค่าการผลิตและการบริโภคในแต่ละปีมากกว่า 2,000 ล้านบาท เช่น สับปะรดตราดสีทอง สละ และกล้วยไข่ ในปี ๒๕๕๗ มีพื้นที่ปลูก รวมกันประมาณ ๖๒,๐๔๖ ไร่ มีมูลค่า ๑,๗๐๖ ล้านบาท (สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี, ๒๕๕๗) นอกจากนี้มีพืชชนิดอื่นๆ อีกได้แก่ สำรอง มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ หมาก ลาน และพืชผักสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น ซึ่งพืชท้องถิ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพืชเฉพาะถิ่นที่ทำรายได้ให้เกษตรกรรายวัน รายเดือน และรายปี ช่วยทดแทนรายได้ในช่วงที่พืชเศรษฐกิจเช่นยางพารา มันสำปะหลังและข้าวมีราคาตกต่ำ ช่วยทำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ถึงแม้ว่าพื้นที่ปลูกมีน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรที่ใช้น้ำมาก แต่พืชท้องถิ่นสามารถปลูกได้และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นความมั่นคงทางอาหาร ช่วยอนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ  เนื่องจากสามารถปลูกเป็นพืชร่วม พืชแซมแบบผสมผสานได้ดี นอกจากนี้ยังมีโอกาสเป็นพืชที่มีศักยภาพเพื่อการส่งออกในอนาคตอีกด้วย แต่พบว่าการผลิตพืชท้องถิ่นเหล่านี้ประสบปัญหาด้านเทคโนโลยีในการผลิต ทั้งปัญหาปริมาณผลผลิต และคุณภาพผลผลิตต่ำ โรคแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในพื้นที่ รวมทั้งพืชท้องถิ่นบางชนิดมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์และค่อยๆ หมดไปจากพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๖ ได้ดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับพืชท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งกกลุ่มของพืชท้องถิ่นที่ดำเนินงานวิจัยตามศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสำคัญดังนี้
           1. พืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพและมูลค่าทางการตลาดได้แก่ สับปะรดตราดสีทอง สละ กล้วยไข่ มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ตงศรีปราจีน สำรอง และหมาก

            2. พืชท้องถิ่นที่มีความเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์ หรือมีปัญหาในการนำมาผลิตในเชิงการค้า ได้แก่ สำรอง ลานและ กระชับ

            3. พืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพในด้านสมุนไพร เวชภัณฑ์ด้านสุขภาพ และเครื่องสำอาง ได้แก่ ว่านสาวหลง เปราะหอม และว่านนางคำ 

          จากความสำคัญและปัญหาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิต และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของพืชท้องถิ่นในพื้นที่ภาคตะวันออกดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จึงได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชท้องถิ่น ในปีงบประมาณ 2559 โดยมีพืชที่อยู่ระหว่างดำเนินงานวิจัยและพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ จำนวน ๗ ชนิด ได้แก่ สับปะรดตราดสีทอง กล้วยไข่ สละ สำรอง มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ และว่านสาวหลง นอกจากนี้ได้จัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาเพิ่มใหม่ในปีงบประมาณ 2561 โดยเสนอผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการบริหารสวพ. ๖ เมื่อวันที่ ๙ - ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ จำนวน 5 พืช ได้แก่ หมาก ลาน กระชับ เปราะหอม และว่านนางคำ เพื่อเป็นการยกระดับผลผลิตทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และเพิ่มศักยภาพในการผลิตเชิงการค้า รวมทั้งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก ตลอดจนทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการผลิตพืชนอกเหนือจากพืชเศรษฐกิจหลัก 


ไฟล์แนบ
.pdf   27_2558.pdf (ขนาด: 139.03 KB / ดาวน์โหลด: 732)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม