วิจัยการใช้สารสกัดจากพืชเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช
#1
วิจัยการใช้สารสกัดจากพืชเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชเพื่อเปลี่ยนลักษณะของพืชเป็นกลไกให้พืชสร้างความทนทานต่อการทำลายของศัตรูพืช (ก) พริกขี้หนู
สมปอง ทองดีแท้ 

          การทดลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพและวิธีการใช้สารธรรมชาติสกัดจากพืช ได้แก่ น้ำส้มควันไม้ (wood vinegar) และผลิตภัณฑ์สารสกัดจากเมล็ดสะเดา รากหางไหล รากหนอนตายหยาก เพื่อปรับเปลี่ยนการเติบโตของพริกขี้หนู (bird chili, Capsicum frutescend Linn.) ให้พืชมีใบสีเขียวเข้มมีคลอโรฟิลล์มากขึ้น รากสมบูรณ์ ผลิใบอ่อนใหม่ แตกยอดง่ายเพื่อทำให้ต้นพริกทนทานศัตรูพืชโดยเฉพาะความเสียหายจากโรคเหี่ยวพริก (Fusarium wilt, Fusarium oxysporum var. vasinfectum) โรคแอนแทรคโนสหรือกุ้งแห้งพริก (Anthracnose, Collectotrichum gloeosporioides) โรครากปม (root knot nematode, Meloidogyne sp.) โรคใบด่างลายเหลือง และไรขาวพริก ที่ทำให้เกิดอาการโรคหัวโกร๋นใบม้วนหงิก ซึ่งระบาดในท้องที่ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ ปราจีนบุรี ในระหว่างปี 2549-2551 ได้ทำแปลงทดลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพและวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากพืชในแปลงทดลองพริกขี้หนูพันธุ์ซุปเปอร์ฮอท โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Completed Blocked Design, RCBD มี 6 กรรมวิธีการทดลอง (treatments) จำนวน 4 ซ้ำ (replications or blocks) รวม 24 แปลงย่อย (subplots) โดยการใช้ราดก้นหลุมก่อนปลูก ราดกองปุ๋ยคอกนำมาหมักก่อนใช้ พ่นบริเวณรอบโคนต้น ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ฝักของพริกขี้หนู มีการใช้น้ำเปล่าพ่นเปรียบเทียบ (control) กับการใช้ผลิตภัณฑ์สารอินทรีย์ธรรมชาติสกัดจากเมล็ดสะเดา รากหางไหล รากหนอนตายหยาก และน้ำส้มควันไม้ที่ยังไม่ดัดแปลงสูตร (original wood vinegar, OWV) อีกจำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ เว้นระยะพ่น 15 วันการใช้ผลิตภัณฑ์สารอินทรีย์ตลอดการทดลองใช้พ่นหรือราดจำนวน 10 ครั้ง และนำผลทดลองกรรมวิธีที่มีแนวโน้มทำให้ต้นพริกขี้หนูทนทานศัตรูพืช ไปทดสอบในแปลงเกษตรกรเพื่อขยายผลการใช้สารอินทรีย์ธรรมชาติสู่แปลงเกษตรกร ผลการทดลองพบว่าการใช้ (1) น้ำส้มควันไม้ที่ยังไม่ดัดแปลงสูตร (OWV) ในอัตราเจือจาง 50 - 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดดินก้นหลุมก่อนปลูก ราดกองปุ๋ยคอกก่อนใช้และพ่นพืชส่วนอยู่เหนือดินรวมจำนวน 10 ครั้ง ทำให้ต้นพริกขี้หนูทนทานต่อการระบาดของโรคเหี่ยวพริก โรคใบด่างลาย โรครากปม แต่ไม่ทนทานต่อไรขาวพริกที่ทำให้เกิดโรคหัวโกร๋นใบม้วนหงิก (2) ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยาก (ST-BM) อัตราเจือจาง 50 - 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรพ่น 10 ครั้ง ทำให้พริกขี้หนูทนทาน โรคใบด่างลาย ไรขาวพริกที่ทำให้เกิดอาการโรคหัวโกร๋นใบม้วนหงิก (3) ผลิตภัณฑ์สะเดา (ST-BK) อัตราเจือจาง 50 - 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 10 ครั้ง ทำให้พริกขี้หนูทนทาน โรคเหี่ยวพริก โรคแอนแทรคโนสหรือโรคกุ้งแห้งพริก ในช่วงปี 2550 - 2551 มีการอบรมและทดสอบการใช้สารอินทรีย์สกัดจากพืชดังกล่าวในแปลงพริกขี้หนูของเกษตรกรที่จังหวัด ชลบุรี ปราจีนบุรี เชียงใหม่ และแพร่ (พริกหยวก) ซึ่งมีปัญหาการระบาดของศัตรู ดังกล่าวรุนแรง สามารถนำสารอินทรีย์ธรรมชาติ ดังกล่าวไปใช้ควบคุมการระบาดได้ผลดี ได้รับผลผลิตพริกขี้หนูฝักสด ปริมาณ 500 - 620 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ปลูก 1 ไร่ ต้นพริกขี้หนูอายุ 5 เดือนที่ต้นมีความสมบูรณ์ สามารถติดฝักได้มากถึงต้นละ 279 ฝัก/รุ่น หรือเฉลี่ยต้นละ 151 ฝัก/รุ่น มีต้นทุนการผลิตพริกขี้หนูฝักสดประมาณ 13-14 บาท/กิโลกรัม มีความปลอดภัยต่อศัตรูธรรมชาติจำพวกแมงมุม มดง่าม แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าลายจุด แมลงวันขายาว ตั๊กแตนหนวดยาว ปลอดภัยต่อไส้เดือนดิน


ไฟล์แนบ
.pdf   959_2551.pdf (ขนาด: 1.65 MB / ดาวน์โหลด: 1,184)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม