ศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวปัญจขันธ์ที่เหมาะสมในการผลิตเป็นชาผง
#1
ศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวปัญจขันธ์ที่เหมาะสมในการผลิตเป็นชาผง
ศศิธร วรปิติรังสี, วีระ วรปิติรังสี, สมชาย ไทยสมัคร, วนิดา อินทรโชติ, สุรสิทธิ์ อรรถจารุสิทธิ์ และแสงมณี ชิงดวง

          ดำเนินการศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวปัญจขันธ์ที่เหมาะสมในการผลิตเป็นชาผงที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึง กันยายน 2551 วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCB) 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ โดยกรรมวิธีคืออายุเก็บเกี่ยว 3, 3.5, 4, 4.5 และ 5 เดือนหลังปลูก ขนาดแปลงย่อย 1 x 10 ตร.ม. ใส่ปุ๋ยคอกก่อนปลูก 10 กก./แปลง ปลูกโดยใช้ต้นกล้าอายุ 1 เดือน คลุมด้วยฟางข้าว หลังจากปลูกถึงเก็บเกี่ยวไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี และไม่มีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชใดๆ ผลการทดลองพบว่า ปัญจขันธ์ที่อายุเก็บเกี่ยว 4 เดือนหลังปลูก ให้ผลผลิตสูงสุดเท่ากับ 456 กก./ไร่ ส่วนอายุเก็บเกี่ยว 3, 3.5, 4.5 และ 5 เดือน ให้ผลผลิต 226, 399, 439 และ 367 กก./ไร่ ตามลำดับ ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ปริมาณสารฟีนอลทั้งหมดที่พบในใบเมื่อเก็บเกี่ยวไม่แตกต่างกันเมื่อเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน แต่จะลดลงเมื่อเก็บเกี่ยว 4.5 เดือนแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คุณภาพของชาผงหลังเก็บรักษา 6 เดือน พบว่า ปริมาณสารฟีนอลทั้งหมดไม่มีความแตกต่างกันเมื่อเก็บรักษา นาน 6 เดือน ในแต่ละกรรมวิธี อายุเก็บเกี่ยว 3 - 4 เดือน ความชื้นอยู่ระหว่าง 8.33 - 8.54% ในขณะที่อายุเก็บเกี่ยว 4.5 และ 5 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงความชื้นสูงกว่ากรรมวิธีอื่นๆ เปอร์เซ็นต์ ความชื้นเท่ากับ 8.63 และ 9.02 ตามลำดับ เมื่อเก็บรักษานาน 6 เดือน ดังนั้นเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวปัญจขันธ์อายุ 4 เดือน เพื่อผลิตเป็นชาผง เนื่องจากให้ผลผลิตสูงสุดและคุณภาพของชาไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก


ไฟล์แนบ
.pdf   1040_2551.pdf (ขนาด: 927.62 KB / ดาวน์โหลด: 471)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม