การตอบสนองของถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่นที่มีต่อสายพันธุ์ไรโซเบียม และปุ๋ยเคมี
#1
การตอบสนองของถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่นที่มีต่อสายพันธุ์ไรโซเบียม และปุ๋ยเคมี
วัลลีย์ อมรพล, สมศักดิ์ ศรีสมบุญ, พินิจ กัลยาศิลปิน, 
สุรศักดิ์ วัฒนพันธุ์สอน, จรัญ ประทุมวงค์, อัจฉรา นันทกิจ, 
สุภาพร รัตนะรัต, ศักดิ์เศวต เศวตเวช,ไชยยศ เพชระบูรณิน และ
สมเพชร พรหมเมืองดี 

          การตอบสนองของถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่นที่มีต่อสายพันธุ์ไรโซเบียมและปุ๋ยเคมี ดำเนินการในฤดูฝนปี 2549 - 2551 ในดินร่วนทราย ชุดดินกบินทร์บุรี และดินทราย ชุดดินวาริน ที่ ศบป.ปราจีนบุรี ในฤดูแล้ง และฤดูฝนที่ ศบป.สุโขทัย ใช้แผนการทดลองแบบ Split plot 3 ซ้ำ ปัจจัยหลัก ประกอบด้วยถั่วเหลือง 4 พันธุ์ คือ พันธุ์เชียงใหม่ 60 พันธุ์ Tampomas สายพันธุ์ EHP 275 และสายพันธุ์ CM9903-2-2-3 ปัจจัยรองเป็นกรรมวิธีใส่ปุ๋ยคือ 1) ไม่ใส่ปุ๋ย 2) ใส่ปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 25 กก./ไร่ 3) ใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ ของ N-P2O5-K2O เมล็ดพันธุ์คลุกเชื้อไรโซเบียม และ 4) คือกรรมวิธีที่ 3 + micronutrient ขนาดแปลงทดลองย่อย 3 x 5.8 ม. ระยะปลูก 50 x 20 ซม. จำนวน 3 ต้น/หลุม ใส่ปุ๋ยตามกรรมวิธี โดยผสมปุ๋ยรวมกันโรยเป็นแถวก่อนปลูก กำจัดวัชพืชและพ่นสารเคมีป้องกัน/กำจัดโรคและแมลงตามคำแนะนำใน GAP ถั่วเหลือง ใส่ปุ๋ย micronutrients โดยละลายน้ำแล้วฉีดพ่นถั่วเหลืองเมื่ออายุ 25, 35 และ 50 วัน เก็บเกี่ยวเมื่อถั่วเหลืองมีฝักมีสีน้ำตาลประมาณ 95% ของจำนวนฝักทั้งหมด พื้นที่เก็บเกี่ยว 2 x 5 ม./แปลงทดลองย่อย ผลการทดลองพบว่า การปลูกถั่วเหลืองในชุดดินกบินทร์บุรี โดยใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ ของ N-P2O5-K2O เมล็ดพันธุ์คลุกเชื้อไรโซเบียม ให้ผลผลิตเมล็ด เปอร์เซ็นต์โปรตีน และผลผลิตโปรตีนเฉลี่ยสูงสุด 293 กก./ไร่, 41.3 % และ 121 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร (12-24-12) 26, 4 และ 48 % ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยสูงสุด 1,608 บาท/ไร่ โดยถั่วเหลืองสายพันธุ์ CM9903-2-2-3 ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 272 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกร (เชียงใหม่ 60 เท่ากับ 246 กก./ไร่) 11 % ส่วนสายพันธุ์ EHP 275 มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนในเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 41.5 % ในชุดดินวารินพบว่า การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O และคลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก + Micronutrient ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O เมล็ดคลุกด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก โดยให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ย 292 และ 281 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร 49 และ 42 % ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 1,561 และ 1,514 บาท/ไร่ โดยการปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ Tampomas ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 269 กก./ไร่ รองลงมาคือสายพันธุ์ CM9903-2-2-3 ซึ่งให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ย 257 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกร (เชียงใหม่ 60 เท่ากับ 246 กก./ไร่) 9 และ 4 % ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ EHP 275 มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนในเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 42.2 %

          การปลูกถั่วเหลืองทั้ง 4 พันธุ์ ที่ ศบป.สุโขทัยในฤดูแล้งพบว่า การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O และคลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูกให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 167 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร 25 % โดยถั่วเหลืองทั้ง 4 พันธุ์ ให้ผลผลิตเมล็ดอยู่ระหว่าง 116 - 163 กก./ไร่ มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ระหว่าง 36.2 – 39.0 % และในฤดูฝนพบว่า การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O เมล็ดคลุกด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 184 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร 27 % มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนเฉลี่ยสูงสุด 39.7 % โดยถั่วเหลืองทั้ง 4 พันธุ์ ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 142 – 193 กก./ไร่ มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ระหว่าง 37.6 – 41.2 % การใส่ปุ๋ยไม่ทำให้เปอร์เซ็นต์โปรตีนในเมล็ดเปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O คลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูกก็เพียงพอแล้ว ซึ่งผลการทดลองใช้เป็นแนวทางในการใช้พันธุ์ และการจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อการเพิ่มผลผลิตและโปรตีนในเมล็ดถั่วเหลือง


ไฟล์แนบ
.pdf   896_2551.pdf (ขนาด: 1.69 MB / ดาวน์โหลด: 436)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม