ศึกษาการสะสมของวัตถุมีพิษการเกษตรในดิน น้ำ และตะกอนในแหล่งปลูกพริก: EPN
#1
ศึกษาการสะสมของวัตถุมีพิษการเกษตรในดิน น้ำ และตะกอนในแหล่งปลูกพริก: EPN
มลิสา เวชยานนท์, ณัฏฐ์ชยธร ขัตติยะพุฒิเมธ และวิภา ตั้งนิพนธ์

          การศึกษาการสะสมของวัตถุมีพิษการเกษตรชนิด EPN ในดิน น้ำ และตะกอน ในแหล่งปลูกพริกเป็นการทดลองภายใต้กิจกรรมศึกษาประเมินความเสี่ยงภัยจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร : EPN โดยเลือกแปลงพริก สำหรับทำการทดลองที่ ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นแปลงแบบยกร่องขนาด 3.8 x 37 เมตร จำนวน 8 ร่อง มีร่องน้ำระหว่างแปลงกว้าง 2.5 เมตร เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ปลูกพริกพันธุ์มัน ทำการฉีดพ่นวัตถุมีพิษชนิด EPN 45% W/V EC ในอัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ด้วยเครื่องยนต์ลากสายยาง จำนวน 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อพริกอายุ 60 วัน และครั้งที่ 2 พริกอายุ 100 วันซึ่งเป็นระยะเริ่มเก็บเกี่ยว ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และตะกอน ภายหลังการฉีดพ่นที่ 0, 1, 3, 5, 7, 10, 15 และ 20 วัน ตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารพิษตกค้างพบว่า การสะสมสารพิษในดินที่ 0 วัน จะมีปริมาณตกค้างสูงสุด 3.47 mg/kg และปริมาณจะลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยที่ 20 วัน พบปริมาณสารพิษตกค้างต่ำสุด 0.06 mg/kg และการสะสมสารพิษในน้ำที่ 0 วัน จะพบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด 59.49 μg/L และปริมาณจะลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยที่ 20 วัน พบสารพิษตกค้างต่ำกว่าค่า LOQ ปริมาณ 0.02 μg/L (LOQ = 0.05 μg/L) ส่วนในตะกอนตรวจไม่พบสารพิษตกค้างในทุกๆ วัน ภายหลังการฉีดพ่นซึ่งเมื่อนำข้อมูลไปคำนวณค่าครึ่งชีวิต (half life) ของสารพิษ จะได้ค่า half life ของสารพิษชนิด EPN ในดินและน้ำเท่ากับ 3.65 และ 1.73 วัน ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   923_2551.pdf (ขนาด: 1.79 MB / ดาวน์โหลด: 493)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม