06-29-2016, 10:10 AM
การชักนำให้ต้นลำไยออกดอกและติดผลในฤดูร้อน
พิจิตร ศรีปินตา, สุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง, อนันต์ ปัญญาเพิ่ม, จันทร์เพ็ญ แสนพรหม, พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, อนรรค อุปมาลี และศิริพร หัสสรังสี
พิจิตร ศรีปินตา, สุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง, อนันต์ ปัญญาเพิ่ม, จันทร์เพ็ญ แสนพรหม, พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, อนรรค อุปมาลี และศิริพร หัสสรังสี
การศึกษาการชักนำต้นลำไยออกดอกและติดผลในฤดูร้อน ระหว่างปีพ.ศ. 2549 - 2551 ณ สวนลำไยของเกษตรกรในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ กรรมวิธีประกอบด้วย 1) ราดสารโพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 50 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร 2) ราดสารโพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 50 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ร่วมกับการพ่นสาร GA3 ความเข้มข้น 50 ppm จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน/ครั้ง ในช่วงแทงช่อดอก 3) ราดสารโพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 50 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ร่วมกับการพ่นสารสกัดจากสาหร่ายทะเล จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน/ครั้ง ในช่วงดอกบาน 4) ราดสารโพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 50 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ร่วมกับการพ่นแคลเซียม - โบรอน จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน/ครั้ง ในช่วงดอกบาน และ 5) ราดสารโพแทสเซียมคลอเรตอัตรา 50 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ร่วมกับการพ่นสารพาโคลบิวทราโซล ความเข้มข้น 50 ppmจำนวน 1 ครั้ง ในช่วงดอกบาน โดยดำเนินการราดสารโพแทสเซียมคลอเรตในช่วงต้นเดือนมีนาคม ทั้งในสภาพที่ลุ่มและที่ดอน ผลการทดลองพบว่า การราดสารโพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 50 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ร่วมกับการพ่นแคลเซียม-โบรอน จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน/ครั้ง ในช่วงดอกบาน มีเปอร์เซ็นต์การติดผลจำนวนผลเฉลี่ยต่อช่อ ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้น มากกว่ากรรมวิธีอื่นทั้ง 3 ปี และการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 50 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร โดยไม่พ่นสารเคมีเพื่อช่วยการติดผล (กรรมวิธีควบคุม) มีเปอร์เซ็นต์การติดผล จำนวนผลเฉลี่ยต่อช่อ และผลผลิตเฉลี่ยต่อต้น น้อยกว่ากรรมวิธีอื่นๆ สำหรับขนาดของผลพบว่าทั้ง 3 ปี การราดสารโพแทสเซียมคลอเรตร่วมกับการพ่นสารเคมีชนิดต่างๆ เพื่อช่วยการติดผล (กรรมวิธีที่ 2 - 5) มีขนาดของผลใหญ่กว่ากรรมวิธีควบคุม สำหรับคุณภาพของผลทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกัน