01-08-2016, 01:36 PM
การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวเพื่อต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองโดยใช้เทคนิคอณูชีวิทยา
กาญจนา วาระวิชะนี, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุมนา งามผ่องใส และเชาวนาถ พฤทธิเทพ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน
กาญจนา วาระวิชะนี, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุมนา งามผ่องใส และเชาวนาถ พฤทธิเทพ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน
การตรวจโรคไวรัสใบด่างเหลือง (Mungbean Yellow Mosaic Virus, MYMV) โดยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) ด้วยไพร์เมอร์ ที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อ (specific primer) กับ DNA-A ทั้งวง จeนวน 3 คู่ คือ MYMV-V2-F1 & MYMV-C3-F1, MYMV-V2-R2 & MYMV-C3-F2 และ MYMV-V2-R3 & MYMV-C1-F3 เป็นวิธีการคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวต้านทานโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์ให้ต่อไปในอนาคต และเมื่อเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์เชื้อไวรัส MYMV-A สาเหตุโรคไวรัสใบด่างเหลือง จำนวน 2746 bp กับฐานข้อมูล GenBank พบว่าคล้ายกับเชื้อไวรัส MYMV ประเทศ อินเดีย และปากีสถาน อยู่ในระดับ 95-96 เปอร์เซ็นต์ และบริเวณ intergenic region มีโครงสร้างแบบ hairpin structure อยู่ 9 นิวคลีโอไทด์ (nonanucleotide) เป็น 5' TAATATTAC 3' ซึ่งเป็นลำดับนิวคลีโอไทด์ส่วนอนุรักษ์ของกลุ่มเจมินีไวรัสทุกชนิด ในส่วนการทดสอบความต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองของเมล็ดพันธุ์ถั่วจากศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทในปี 2554-2556 จำนวน 2 ชุด รวมทั้งหมด 130 สายพันธุ์ๆ ละ 20 ต้น โดยนำถั่วเขียวทุกสายพันธุ์มาปลูกเชื้อไวรัส MYMV ด้วยแมลงหวี่ขาวและสังเกตอาการภายในเรือนทดลองรวม 45 วัน หลังจากนั้นประเมินความรุนแรงของโรคจากการสังเกตด้วยตาเปล่าและอ้างอิงตามเกณฑ์ Disease Scoring Scale (1-9) for MYMV (Sadiq et al., 2006) ผลการทดสอบของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวชั่วที่ 3 (F3) จำนวน 12 คู่ผสม (คู่ผสมละ 5 สายพันธุ์) พบถั่วเขียว 2 สายพันธุ์เท่านั้น ที่แสดงความทนทานต่อโรค ได้แก่ CNMB-MYMV-08-06-12 (คู่ผสมที่ 6 KPS 2 x NM 54) และ CNMB-MYMV-08-07-14 (จากคู่ผสมที่ 7 ระหว่างพันธุ์ NM92 x KPS2) ซึ่งประเมินการเข้าทำลายของโรคอยู่ที่ 25 % เกณฑ์คะแนนความรุนแรงของโรคอยู่ที่ระดับ 5 สำหรับผลการทดสอบของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวชุดอุณหภูมิต่ำและฉายรังสีพบมีถั่วเขียวเพียง 1 สายพันธุ์เท่านั้น ที่แสดง ความต้านทานปานกลางต่อโรค ได้แก่ VC 2901-11-2B-1-B ซึ่งประเมินการเข้าทำลายของโรคอยู่ที่ 15 % เกณฑ์คะแนนความรุนแรงของโรคอยู่ที่ระดับ 4 สรุปจากข้อมูลข้างต้นพบเชื้อไวรัส MYMV-A พบระบาดทำความเสียหายให้กับพืชถั่วเขียวในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อนำพันธุ์ถั่วเขียวจากแถบประเทศดังกล่าวมาใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะอ่อนแอต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ จึงควรมีการทดสอบระดับความต้านของพันธุ์ถั่วเขียวก่อนนำมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งด้านผลิต ระยะเวลา และต้นทุน