12-25-2015, 03:19 PM
การคัดเลือกครั้งที่ 1 โคลนอ้อยชุดปี 2556 เขตน้ำฝน
นัฐภัทร์ คำหล้า, อุดมศักดิ์ ดวนมีสุข, รวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์, มานิตย์ สุขนิมิต และสมนึก คงเทียน
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย
นัฐภัทร์ คำหล้า, อุดมศักดิ์ ดวนมีสุข, รวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์, มานิตย์ สุขนิมิต และสมนึก คงเทียน
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย
วัตถุประสงค์ในการทดลองนี้คือคัดเลือกพันธุ์อ้อยลูกผสมเพื่อให้มีผลผลิตสูง และมีความสามารถในการไว้ตอ ปรับตัวได้ดีในเขตอาศัยน้ำฝน โดยนำโคลนอ้อยชุดปี 2556 ที่ได้จากผสมข้ามพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี มาปลูกคัดเลือกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ใช้กล้าอ้อยจำนวน 10,782 ต้น จากการผสมระหว่างพันธุ์อ้อย 44 คู่ผสม ใช้ระยะระหว่างแถว 1.3 เมตร แถวยาว 8 เมตร ระยะระหว่างหลุม 0.5 เมตร ปลูกอ้อยเป็นหลุมๆ ละ 1 ต้น ระหว่างวันที่ 28 เมษายน-7 พฤษภาคม 2557 การคัดเลือกพิจารณาจากน้ำหนักผลผลิตต่อกอ และลักษณะทางการเกษตรที่ดี ได้แก่จำนวนลำต่อกอ ขนาดลำ ความสูงต้น และค่าความหวาน ไส้กลางเล็กกว่า 2 มิลลิเมตร ขนที่กาบใบน้อยหรือไม่มี และไม่แสดงอาการของโรคแส้ดำ และใบขาว จากการทดลอง ได้คัดเลือกโคลนอ้อยที่คาดว่าจะให้ผลผลิตสูง และมีลักษณะทางการเกษตรที่ดีไว้จำนวน 373 โคลน จาก 37 คู่ผสม มีผลผลิตอยู่ระหว่าง 6.0-25.5 กิโลกรัมต่อกอ ความสูง 207-347 ซม. จำนวน 4-17 ลำ/กอ ขนาดลำ 1.98-3.78 ซม. ค่าความหวาน (ในแปลงทดลอง) 14.67-24.0 องศาบริกซ์ โคลนอ้อยที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าว จะนำไปคัดเลือกในขั้นที่ 2 ต่อไป