การผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดินและการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในสวนยางพาราปลูกใหม่
#1
การผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดินและการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในสวนยางพาราปลูกใหม่
จินดารัตน์ ชื่นรุ่ง, ชูศักดิ์ สัจจพงษ์, อภิรัฐ ชาวสวี และธรรมนูญ แก้งคงคา
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          การทดลองนี้ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2546 ในไร่เกษตรกรพื้นที่สูงลาดชัน ตำบลตับเต่า อำเภอเทิน จังหวัดเชียงราย โดยได้เลือกพื้นที่ทำการทดลองประมาณ 5 ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 700 เมตร และมีความลาดชันประมาณ 15-20% ทำการปลูกยางพาราพันธุ์ RRIM 600 พร้อมกับการปลูกหญ้าแฝกพันธุ์ศรีลังกาขวางความลาดชันของพื้นที่ตามแนวระดับ เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำและพัฒนาระบบในระยะแรกจนยางพาราอายุได้ 3 ปี (2549) จึงมีการแบ่งพื้นที่ตามแนวลาดชันออกเป็น 4 แปลงย่อยๆ ละประมาณ 1.25 ไร่ เพื่อเป็นแปลงทดสอบการใช้ปุ๋ยและการจัดการสวนยางพาราปลูกใหม่ประกอบด้วย 4 กรรมวิธี ได้แก่ (1) การใช้ปุ๋ยสูตรสำเร็จตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง คือ 20-10-12 อัตรา 360-400 ก./ต้น/ปี (2) การผสมปุ๋ยเคมีใช้เองตามสูตรสำเร็จตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง (3) การผสมปุ๋ยเคมีใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน และ (4) การผสมปุ๋ยเคมีใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการใช้ปุ๋ยมูลวัว 2 กก./ต้น/ปี ผลการวิเคราะห์ดินพบว่า ดินที่ทดลองปลูกยาวพาราเป็นดินลึกประมาณ 90 ซม. ที่ระดับความลึก 0-70 ซม. เป็นดินเหนียว (clay) และ 70-90 ซม. เป็นดินร่วนเหนียวปนทราย (Sandy Clay Loam) ความหนาแน่นรวมของดินที่ระดับความลึกต่างๆ มีค่าปานกลางถึงสูงมาก (1.29-1.59 ก./ลบ.ซม.) การระบายน้ำเลวในดินล่าง (0.04-0.06 มม./ชม.) ดินชั้นไถพรวน (0.15 ซม.) มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) เท่ากับ 6.21 ปริมาณอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง (2.61%) ปริมาณฟอสฟอรัสในรูปที่เป็นประโยชน์ต่ำ (5.16 มก./กก.) ปริมาณโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์สูง (147.12 มก./กก.) การใช้หญ้าแฝกปลูกขวางความลาดชันของพื้นที่ตามแนวระดับในสวนยางพาราปลูกใหม่ช่วยลดการสูญเสียหน้าดินในบริเวณพื้นที่ลาดชันได้ 19-17.8 เท่า หญ้าแฝกยังมีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในบรรยากาศมาสะสมไว้ในลำต้นและใบในรูปของอินทรีย์คาร์บอนได้ถึง 50.7% ของน้ำหนักแห้ง และมีปริมาณธาตุอาหารในรูปฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเท่ากับ 0.06 และ 0.93 % ตามลำดับ อัตราปุ๋ยแนะนำที่ได้จากค่าวิเคราะห์ดินสำหรับยางพารา คือ 12-8-14 กก. (N-P2O5-K2O)/ไร่ ส่วนการเจริญเติบโตของต้นยางพาราโดยวัดเส้นรอบวงที่ระดับความสูง 1.50 ม. จากพื้นดิน พบว่าการใส่ปุ๋ยตามกรรมวิธีที่ 1 และ 3 ยางพารามีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาทำการทดลอง (18 ก.ค. 49-15 ก.ค.53) ใกล้เคียงกันคือ 30.67 และ 3056 ซม. ตามลำดับ ส่วนกรรมวิธีที่ 2 และ 4 ยางพารามีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น 27.44 และ 27.06 ซม. ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าสองกรรมวิธีแรก และพบว่ายางพาราซึ่งมีอายุ 6 และ 7 ปี ให้ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ในกรรมวิธีที่ 3 มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ 9.42 กก./ไร่/วัน สำหรับกรรมวิธีที่ 1 และ 4  มีค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำยางต่ำที่สุดคือ 6.58 กก./ไร่/วัน จึงสรุปได้ว่าการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินให้ปริมาณน้ำยางสูงกว่าการใช้ปุ๋ยสูตรสำเร็จตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยางที่ใช้อยู่เดิมอย่างเด่นชัด ส่วนปุ๋ยอินทรีย์อาจไม่จำเป็นต้องใช้ เพื่อลดต้นการผลิตเพราะดินเป็นดินเหนียวและมีปริมาณอินทรียวัตถุค่อนข้างสูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของดินบริเวณรากและเชื้อแบคทีเรียที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ในรากหญ้าแฝกเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานด้วย


ไฟล์แนบ
.pdf   1957_2553.pdf (ขนาด: 1.73 MB / ดาวน์โหลด: 1,914)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม