การจัดการโรคราน้ำฝนของลำไย
#1
การจัดการโรคราน้ำฝนของลำไย
อมรรัตน์ ภู่ไพบูลย์, พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, ศรีสุรางค์ ลิขิตเอกราช และพจนา ตระกูลสุขรัตน์
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1

          ได้ศึกษาการจัดการโรคราน้ำฝนของลำไยโดยใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl ร่วมกับการตัดแต่งกิ่งลำไย ทำการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนกันยายน 2550 ในสวนลำไยเกษตรกรที่ ต.สบเมิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสวนที่มีประวัติการแพร่ระบาดโรคราน้ำฝนอย่างรุนแรง ได้เตรียมต้นลำไยสำหรับงานทดลองโดยเลือกต้นลำไยที่มีขนาดต้นใกล้เคียงกัน วางแผนการทดลองแบบ RCB การทดลองมี 6 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 7 ซ้ำ ผลทดลองในปี พ.ศ. 2549 พบว่า กรรมวิธีตัดแต่งกิ่ง 3 ครั้ง ในรอบ 1 ปี แล้วพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl หลังการตัดแต่งกิ่งทั้ง 3 ครั้ง สามารถลดการเป็นโรคราน้ำฝนของลำไยได้ 44 เปอร์เซ็นต์ และในการทดลองซ้ำในปี พ.ศ. 2550 ผลการทดลองครั้งที่ 2 ยืนยันผลการทดลองครั้งแรก ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2551 ได้ศึกษาการจัดการโรคราน้ำฝนของลำไย โดยการตัดแต่งกิ่งที่เหมาะสมตามคำแนะนำร่วมกับการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพและ/หรือใช้น้ำส้มควันไม้เพื่อทดแทน หรือใช้ร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl โดยทำการทดลองที่สวนลำไยของเกษตรกรที่ ต.สบเมิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พบว่า กรรมวิธีตัดแต่งกิ่งตามคำแนะนำ พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl 3 ครั้ง มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคราน้ำฝนต่ำสุด คือ 5.63% ซึ่งไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีตัดแต่งกิ่งตามคำแนะนำ และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl 2 ครั้ง พ่นน้ำส้มควันไม้ 1 ครั้ง และกรรมวิธีตัดแต่งกิ่งตามคำแนะนำและพ่นน้ำส้มควันไม้ 2 ครั้ง พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl 1 ครั้ง แต่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีอื่น ๆ ซึ่งผลการทดลองในปีที่สองและสาม ยืนยันในทำนองเดียวกันกับผลการทดลองปีแรก


ไฟล์แนบ
.pdf   1586_2553.pdf (ขนาด: 124.4 KB / ดาวน์โหลด: 2,109)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม