การป้องกันกำจัดเชื้อราสกุล Hypomyces สาเหตุโรคใยแมงมุมบน ดอกเห็ดเป๋าฮื้อ
#1
การป้องกันกำจัดเชื้อราสกุล Hypomyces สาเหตุโรคใยแมงมุมบน ดอกเห็ดเป๋าฮื้อ (Pleurotus cystidiosus)
อภิรัชต์ สมฤทธิ์, มนตรี เอี่ยมวิมังสา, ธารทิพย ภาสบุตร และสุณีรัตน์ สีมะเดื่อ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2552 พบว่าการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคใยแมงมุมบนอาหาร PDA (Potato Dextrose Agar) มีการสร้างโคโลนีลักษณะเส้นใย สีขาวนวล ฟู เจริญเร็วเต็มจานอาหารภายในเวลา 5 วัน เชื้อราสร้างก้าน conidiophore ลักษณะแตกกิ่งก้านแบบ verticillate โคนีเดียรูปไข่ ใส ไม่มีสี มี 1 - 2 เซลล์ ขนาด 5.12 – 10.36 x 10.36 – 25.90 ไมครอน เกิดจากฐาน denticulate conidiogenous loci บน phialide ที่ส่วนปลายแตกกิ่งก้านแบบ verticillate เมื่อจำแนกชนิดของเชื้อราสามารถจำแนกได้เป็นเชื้อราสกุล Cladobotryum verticillatum ซึ่งเป็นระยะ anamorph ของรา Hypomyces ochraceus การทดสอบสารเคมีในการป้องกันกำจัดราสาเหตุโรคใยแมงมุมพบว่า สารป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืชสารคาร์เบนดาซิม (carbendazim) สารเคมีโพรคลอราซ (prochloraz) และสารเคมีโพรพิโคนาโซล (propiconazole) มีประสิทธิภาพในยับยั้งการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคใยแมงมุมบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA และในสภาพโรงเรือนได้ดี การทดสอบการใช้สารสกัดจากขมิ้นชัน ไพล ใบพลู และเปลือกมังคุด ในการกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคใยแมงมุมพบว่า สารสกัดทั้ง 4 ชนิด สามารถยับยั้งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราของเชื้อรา Hypomyces สาเหตุโรคใยแมงมุมบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA และในสภาพโรงเรือนได้แต่ไม่ดีเทียบเท่าการใช้สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืช การทดสอบผลของน้ำส้มควันไม้ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Hypomyces บนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ผสมน้ำส้มควันไม้พบว่า เชื้อราสาเหตุโรคใยแมงมุมของเห็ดเป๋าฮื้อไม่สามารถเจริญได้บนอาหารที่ผสมน้ำส้มควันไม้ในอัตราส่วน น้ำส้มควันไม้ต่อน้ำกลั้นนึ่งฆ่าเชื้อเท่ากับ 1 : 20 และในอัตราส่วนนี้ เส้นใยเห็ดก็ชะงักการเจริญด้วย


ไฟล์แนบ
.pdf   1748_2553.pdf (ขนาด: 133.68 KB / ดาวน์โหลด: 1,567)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม