สำรวจ รวบรวมและจำแนกรา Fusarium สาเหตุโรคพืช
#1
สำรวจ รวบรวมและจำแนกรา Fusarium สาเหตุโรคพืช
อภิรัชต์ สมฤทธิ์, ยุทธศักดิ์ เจียมไชยศรี, ธารทิพย์ ภาสบุตร และสุณีรัตน์ สีมะเดื่อ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การรวบรวมและเก็บตัวอย่างพืชเป็นโรคที่คาดว่ามีสาเหตุจากเชื้อรา Fusarium ในพื้นที่เพาะปลูกพืชของเกษตรกรตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 - กันยายน 2553 เมื่อนำตัวอย่างพืชเป็นโรคมาแยกเชื้อราบริสุทธิ์บนอาหาร WA สามารถจำแนกได้เป็นเชื้อรา Fusarium จำนวน 104 ไอโซเลท จากแปลงปลูกพืช 21 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครสวรรค์ นครราชสีมา แพร่ ปทุมธานี ปราจีนบุรี แม่ฮ่องสอน เลย สกลนคร สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย และอุบลราชธานี เชื้อรา Fusarium ทั้งหมดแยกได้จากพืช 22 ชนิด และเมื่อจำแนกชนิด (species) ของเชื้อราบริสุทธิ์ทั้งหมด โดยอาศัยสัณฐานวิทยา และลักษณะโคโลนีที่เจริญบนอาหาร PDA (potato dextrose agar) และ CLA (corn leaf agar) แล้วจำแนกตามวิธีการของ Nelson และคณะ (1983) สามารถจำแนกได้เป็นเชื้อรา Fusarium 6 ชนิด (species) ได้แก่ F. equiseti จากโรคเหี่ยวของแอสเตอร์ F. moniliforme จากโรคลำต้นเน่า หรือโรคเส้นใบแดงของข้าวโพด และโรคลำต้นเน่าแดงของข้าวฟ่าง F. oxysporum จากโรคตายพรายของกล้วยน้ำหว้า โรคเหี่ยวของขิง เซเลอรี่ ถั่วลันเตา เบญจมาศ ปอเทือง ผักหวานบ้าน พริกชี้ฟ้า พริกหยวก มะเขือเปราะ มะเขือเทศ ยาสูบ และหอมใหญ่ โรคขั้วและผลเน่าของแตงแคนตาลูป โรคต้นเน่าของกล้วไม้สกุลแคทรียา และโรคใบไหม้ของกล้วยไม้สกุลคาลิบโซ่ และกล้วยไม้สกุลแดงกิตติ F. proliferatum จากโรคใบไหม้ของกล้วยไม้สกุลหวาย และกล้วยไม้เอื้องใบมัน โรคดอกขีดและไหม้สีน้ำตาลของกล้วยไม้สกุลหวาย และโรคถอดฝักดาบของข้าว F. semitectum จากโรคเมล็ดด่างและโรคใบจุดสีน้ำตาลของรวงข้าว โรคเหี่ยวและผลเน่าของแตงไทย และโรคผลเน่าของแตงแคนตาลูป และ F. solani จากโรคเหี่ยวของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี โรคโคนใบไหม้ดำของกล้วยไม้สกุลแวนด้า โรคใบจุดและใบไหม้ของกล้วยไม้สกุลเอื้องมะพร้าว โรคลำต้นแตกของแตงโม โรคลำต้นเน่าและผลเน่าของแตงแคนตาลูป และโรคเหี่ยวและลำต้นเน่าสีน้ำตาลของเบญจมาศ การทดสอบความสามารถในการก่อโรคพบว่า เชื้อรา Fusarium บริสุทธิ์แต่ละไอโซเลทที่แยกได้ สามารถก่อให้เกิดโรคกับชนิดของพืชที่เป็นพืชอาศัยได้ การเก็บรักษาเชื้อราสกุล Fusarium ตลอดระยะเวลาที่ทำการวิจัยพบว่า วิธีการเก็บแบบแห้งแข็งสูญญากาศ (Lyophiliztion) เป็นวิธีการเก็บรักษาที่ดีที่สุด ส่วนวิธีการเก็บในกลีเซอรีน 10% ที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส เป็นวิธีการเก็บรักษาที่ดีรองลงมา ซึ่งดีกว่าวิธีการเก็บแบบแห้งบนกระดาษกรองที่อุณหภูมิ 8 - 10 องศาเซลเซียส  และเก็บแห้งในดินสวนที่อุณภูมิ 8 - 10 องศาเซลเซียส


ไฟล์แนบ
.pdf   1709_2553.pdf (ขนาด: 149.34 KB / ดาวน์โหลด: 3,361)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม