การศึกษาวิเคราะห์และปริมาณความเสี่ยงศัตรูนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจากสหรัฐฯ
#1
การศึกษาวิเคราะห์และปริมาณความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจากสหรัฐอเมริกา
สุคนธ์ทิพย์ สมบัติ, อลงกต โพธิ์ดี, วาสนา ฤทธ์ไธสง และคมศร แสงจินดา
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          มะเขือเทศ (Tomato; Lycopersicon esculentum Mill) เป็นพืชในแถบอบอุ่น และแถบร้อนของโลก ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีการปลูกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้มะเขือเทศเป็นพืชที่มีการแข่งขันในตลาดโลกสูงมากชนิดหนึ่ง ในขณะที่ประเทศไทย มะเขือเทศจัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับต้น ๆ และต้องใช้เมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูก ซึ่งสถิติปริมาณการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศปี 2552 ปริมาณทั้งสิ้น 143,725.127 กิโลกรัม มูลค่า 30,909,352.32 บาท ในจำนวนนี้เป็นเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจากสหรัฐอเมริกา ปริมาณการนำเข้า 1,405.042 กิโลกรัม มูลค่า 446,769 บาท โดยเฉพาะนำเข้าเมล็ดพันธุ์พ่อแม่เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมและส่งออก ซึ่งเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจากประเทศดังกล่าวมีศัตรูพืชร้ายแรงที่สามารถติดมากับเมล็ดนำเข้าได้

          ผลการศึกษาข้อมูลศัตรูพืชของมะเขือเทศที่มีรายงานพบในสหรับอเมริกา จำนวนทั้งสิ้น 285 ชนิด และที่ไม่มีรายงานในประเทศ และสามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจำนวน 27 ชนิด ผลการประเมินความเสี่ยงโอกาสเข้ามาตั้งรกราก และแพร่กระจายจนก่อให้เกิดความเสียหายถึงระดับเศรษฐกิจ พบเป็นโรคพืชกักกันที่มีความเสี่ยงสูง 2 ชนิด ความเสี่ยงปานกลาง 20 ชนิด และความเสี่ยงต่ำ 5 ชนิด ซึ่งโรคพืชกักกันดังกล่าวจำเป็นต้องมีมาตรการจัดการความเสี่ยงก่อนการส่งออก โดยกำหนดให้เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าต้องดำเนินการตรวจสอบด้วยสายตา พบว่าปลอดจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ส่วนอาการของโรค เมล็ดวัชพืช ชิ้นส่วนพืช เป็นต้น และต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชที่ระบุการจัดการความเสี่ยงโรคพืชกักกัน ได้แก่ ต้องไม่พบอาการของโรคพืชกักกันบนต้นมะเขือเทศจากสถานที่ผลิตในช่วงการเจริญเติบโตของพืช หรือต้องปลูกในพื้นที่ปลอดจากโรคพืชกักกัน โดยการสำรวจอย่างเป็นทางการที่ครอบคลุมพืชอาศัยของโรคพืชกักกันหรือต้องมาจากเมล็ดมะเขือเทศ และละอองเกสรของพ่อแม่พันธุ์ที่ได้รับการตรวจสอบในระหว่างช่วงของการปลูกและพบว่า ปลอดจากโรคพืชกักกัน รวมทั้งเมล็ดต้องผ่านการตรวจสอบโรคพืชกักกันในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการตรวจสอบและวิธีการกำจัดโรคพืชกักกันที่เฉพาะ สำหรับโรคพืชกักกันสาเหตุเกิดจากไวรอยด์ Potato spindle tuber viroid ต้องมีการตรวจสอบด้วยเทคนิคชีวโมเลกุล เช่น RT-PCR และต้องกำจัดโรคพืชกักกันที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ โดยการแช่เมล็ดใน 1% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ นาน 5 - 20 นาที และการคลุกเมล็ดด้วยสารกำจัดเชื้อรา เช่น ไธแรม 75 WP ในอัตรา 1 ช้อนชาต่อเมล็ด 500 กรัม หรือแช่ในน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส นาน 25 นาที จากนั้นเมื่อสินค้ามาถึงจะถูกสุ่มตรวจ ณ จุดนำเข้า หากตรวจพบศัตรูพืชกักกันจะถูกทำลายหรือให้ส่งกลับ กรณีตรวจพบศัตรูพืชที่ไม่ใช่ศัตรูพืชกักกัน ทำการกำจัดศัตรูพืชดังกล่าวด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยผู้นำเข้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย


ไฟล์แนบ
.pdf   1658_2553.pdf (ขนาด: 101.6 KB / ดาวน์โหลด: 634)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม