ระดับความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงต่อหนอนใยผัก; Plutella xylostella (Linneaus)
#1
ระดับความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงต่อหนอนใยผัก; Plutella xylostella (Linneaus) จากพื้นที่ปลูกสำคัญ 3 แห่ง
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, พฤทฒิชาติ ปุณวัฒโท, อุราพร หนูนารถ และจีรนุช เอกอำนวย
กลุ่มบริหารศัตรูพืช และกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          หนอนใยผัก, Plutella xylostella (L.) เป็นแมลงที่ทำลายผักตระกูลกะหล่ำที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยและกำจัดได้ยากเนื่องจากมีความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงหลายชนิด เกษตรกรมักแก้ปัญหาโดยการใช้สารฆ่าแมลงเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืนและก่อปัญหาต่าง ๆ ตามมา การแก้ปัญหาที่ถูกต้องก็คือ การจัดการความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง (insecticide resistance management, IRM) การทราบระดับความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงหลาย ๆ กลุ่มต่อหนอนใยผักในแต่ละท้องที่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่มีความสำคัญในการวางกลยุทธ์ในการจัดการความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง ระดับความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงในการทดลองนี้ถูกวัดโดยวิธีมาตรฐานคือ จุ่มใบผักในสารฆ่าแมลงแล้วให้หนอนกิน (leaf-dipping method) โดยทดลองกับหนอนใยผักวัยที่ 3 รุ่นลูกของหนอนใยผักที่เก็บจากพื้นที่ปลูกผักสำคัญของประเทศไทย 3 แห่ง คือ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกายจนบุรี อำเภอทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ผลการทดลองพบว่า สารฆ่าแมลงที่มีระดับความเป็นพิษสูงและค่อนข้างสูงต่อหนอนใยผักจากพื้นที่ปลูกทั้ง 3 แห่ง คือ flubendiamide, chlorantraniliprole, Bt. aizawai, Bt kurstaki, spinosad, emamectin benzoate และ fipronil ซึ่งมีค่า LC 50 อยู่ในช่วง 0.160 - 10.6, 0.225 - 7.97, 3.11 - 14.1, 1.27 - 8.61, 1.70 - 8.70, 1.16 - 5.63 และ 1.15 - 8.40 mg(Al)/liter ตามลำดับ ส่วนสารฆ่าแมลงที่มีระดับความเป็นพิษต่ำต่อหนอนใยผักจากพื้นที่ปลูกทั้ง 3 แห่ง คือ indoxacarb, chlorfenapyr, และ tolfenpyrad ซึ่งมีค่า LC 50 อยู่ในช่วง 27.5 - 79.2, 18.5 - 33.0 และ 21.2 - 145 mg(Al)/liter ตามลำดับ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหยุดพักการใช้สารเหล่านี้ชั่วคราวจนกว่าระดับความเป็นพิษจะสูงขึ้นอีกครั้ง ส่วนสารฆ่าแมลง flubendiamide, chlorantraniliprole, Bt. aizawai, Bt. kurstaki, spinosad, emamectin benzoate และ fipronil ซึ่งมีระดับความเป็นพิษสูงและค่อนข้างสูงนั้นเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการวางแผนการจัดการความต้านทาน ข้อมูลจากการทดลองยังชี้ว่า การจัดการเพื่อป้องกันหรือลดปัญหาการเกิดความต้านทานในหนอนใยผัก และการปรับอัตราความเข้มข้นของสารฆ่าแมลงให้เหมาะสมกับหนอนใยผักในแต่ละพื้นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน


ไฟล์แนบ
.pdf   1599_2553.pdf (ขนาด: 121.3 KB / ดาวน์โหลด: 704)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม