12-21-2015, 02:25 PM
การทดสอบพันธุ์ยางในเขตปลูกยางเดิม
ศุภมิตร ลิมปิชัย, กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข, ภัทรา กิณเรศ,
นริสา จันทร์เรือง, อุไร จันทรประทิน, พิชิต สพโชค,
ปัทมา ชนะสงคราม, ทรงเมท สังข์น้อย และวรรณจันทร์ โฆรวิส
ศูนย์วิจัยยางสงขลา และศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง
ศุภมิตร ลิมปิชัย, กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข, ภัทรา กิณเรศ,
นริสา จันทร์เรือง, อุไร จันทรประทิน, พิชิต สพโชค,
ปัทมา ชนะสงคราม, ทรงเมท สังข์น้อย และวรรณจันทร์ โฆรวิส
ศูนย์วิจัยยางสงขลา และศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง
เพื่อศึกษาการปรับตัวของพันธุ์ยางที่คัดเลือกได้ใหม่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในเขตปลูกยางเดิม และเป็นแหล่งเรียนรู้เผยแพร่พันธุ์ยางใหม่ออกสู่เกษตรกร ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางและองค์การสวนยาง ใช้พันธุ์ยางจำนวน 14 พันธุ์/สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ RRIT 312, RRIT 319, RRIT 402, RRIT 403, RRIT 404, RRIT 405, RRIT 406, RRIT 408, RRIT 412, RRI-CH-35-1372, No6 B5/2529 และ OP-CH-35-2002 และพันธุ์เปรียบเทียบ 2 พันธุ์ ได้แก่ RRIT 251 และ RRIM 600 ปลูกทดสอบในพื้นที่ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพัทลุง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดกระบี่ และองค์การสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราชรวม 3 แปลง ใช้เนื้อที่แปลงละประมาณ 42 ไร่ แบ่งเนื้อที่อกเป็นแปลงย่อย ๆ ละ 3 ไร่ ไม่แบ่งซ้ำ ใช้ระยะปลูก 3x7 เมตร และใช้ต้นยางชำถุงปลูก 76 ต้นต่อไร่ ผลการดำเนินการปลูกยางเมื่อเดือนกันยายน–ตุลาคม 2551 ในแปลงจังหวัดพัทลุง กระบี่ และนครศรีธรรมราช จำนวน 3,303 ต้น 3,304 ต้น และ 3,033 ต้น ตามลำดับ ผลการปลูกพบว่ามีต้นยางตายหลังจากปลูกปีที่ 1 ร้อยละ 20.3 และปีที่ 2 ร้อยละ 13.8 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและมีช่วงฤดูแล้งนานกว่าปกติ การวัดความเจริญเติบโตของต้นยางขณะอายุ 2 ปี พบว่า แปลงพัทลุงมีพันธุ์ยางเจริญเติบโตดีกว่าพันธุ์ RRIT 251 และ RRIM 600 จำนวน 3 และ 4 พันธุ์ ตามลำดับ โดยพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีที่สุด 3 อันดับแรกคือ RRIT 405, RRIT 402 และ RRIT 408 แปลงกระบี่มีพันธุ์ยางเจริญเติบโตดีกว่าพันธุ์ RRIT 251 และ RRIM 600 จำนวน 10 และ 12 พันธุ์ ตามลำดับ โดยพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีที่สุด 3 อันดับแรกคือ RRIT 406, RRIT 403 และ RRIT 412 และแปลงนครศรีธรรมราชมีพันธุ์ยางเจริญเติบโตดีกว่าพันธุ์ RRIM 600 จำนวน 3 พันธุ์คือ RRIT 251, RRIT 319 และ RRI-CH-35-1372 และจากการสำรวจโรคต่าง ๆ ในปี 2553 พบว่า ทุกแปลงมีโรคใบจุดนูนระบาดในระดับไม่รุนแรง โดยพบอาการของโรคในยางบางพันธุ์โดยเฉพาะพันธุ์ RRIT 251 จะพบอาการของโรคทุกแปลง