12-04-2015, 11:36 AM
การใช้เทคโนโลยีการผลิตพริกถูกที่ วิธีถูกต้อง เพิ่มช่องทางการตลาด
พเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ, นวลจันทร์ ศรีสมบัติ, ยุวลักษณ์ ผายดี, บุญชู สายธนู, นาตยา จันทร์ส่อง, โสภิตา สมคิด และนิรมล ดำพะธิก
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอำนาจเจริญ
พเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ, นวลจันทร์ ศรีสมบัติ, ยุวลักษณ์ ผายดี, บุญชู สายธนู, นาตยา จันทร์ส่อง, โสภิตา สมคิด และนิรมล ดำพะธิก
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอำนาจเจริญ
พริกฤดูแล้งในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร เพาะกล้าเดือนกรกฎาคม - กันยายน ปลูกในที่ดอน ดินร่วนปนทราย เดือนกันยายน - ตุลาคม ใช้น้ำใต้ดิน เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคม ประสบปัญหาไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne incognita) จึงทดสอบเทคโนโลยีการแก้ปัญหาโรครากปม คือ การเตรียมกล้าที่ปราศจากตัวอ่อนของไส้เดือนฝอยรากปมพริก โดยการเผาแปลงเพาะกล้าด้วยแกลบดินหนา 10 เซนติเมตร นาน 8 ชั่วโมง การวางถาดเพาะกล้าให้สูงกว่าระดับผิวดินหรือเผาแปลงก่อนวางถาดเพาะชำด้วยแกลบดิบหนา 10 เซนติเมตร และการเตรียมแปลงปลูกด้วยการถอนต้นพริกออกนอกแปลงแล้วเผาทิ้ง จากนั้นหว่านปอเทืองอัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ ไถกลบปอเทืองเมื่อออกดอก (อายุ 45-50 วัน) ก่อนปลูกพริก 2 สัปดาห์ ร่วมกับการผลิตพริกแบบผสมผสานตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ กาารใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ การป้องกันกำจัดศัตรูพริกแบบผสมผสานที่จังหวัดอุบลราชธานีในปี 2551-2552 พบว่า ผลผลิตพริกหัวเรือ ศก.13 สูงกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 19.8 พบดัชนีการเกิดปมเพียง 0.8 พริกซุปเปอร์ฮอทในฤดูแล้งที่จังหวัดยโสธร ปี 2553 ให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 37.2 ไม่พบปม การเพาะกล้าช่วงฤดูฝน (ก.ค.-ส.ค.) เสี่ยงต่อโรคต้นเน่าควรป้องกันฝนโดยการมุงหลังคาพลาสติกจะทำให้ลดโรคต้นเน่าได้และต้นแข็งแรง เมื่อนำไปปลูกจะเจริญเติบโตดีกว่ากล้ามาจากกลางแจ้งร้อยละ 27.5 ส่วนพริกฤดูฝนจังหวัดนครราชสีมา ปลูกในสภาพไร่ อาศัยน้ำฝน ดินร่วนเหนียว ประสบปัญหาโรคแอนแทรกโนส จึงทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกแบบผสมผสานปี 2551-2552 พริกให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 24.8 สามารถลดโรคแอนแทรคโนสได้ร้อยละ 20 การแก้ปัญหาโรครากปมร่วมกับการผลิตพริกแบบผสมผสานลดการพ่นสารเคมีได้ 2 ครั้ง ได้ผลผลิตพริกปลอดภัยคือ ไม่พบสารพิษร้อยละ 73 พบสารพิษ <MRL ร้อยละ 27 วิธีเกษตรกรไม่พบสารพิษร้อยละ 67 พบสารพิษ <MRLs ร้อยละ 33 แสดงว่าเกษตรกรใช้สารเคมีได้ถูกต้องและพริกสดมีคุณภาพดีกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 14 สามารถเชื่อมโยงกับตลาดพริกคุณภาพได้โดยผ่านผู้ประกอบการ (contract farming) กลุ่มเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดนครราชสีมาสามารถส่งพริกสดไปยังต่างประเทศได้ 30 วัน และ 60 ตัน ในปี 2552-2553 ตามลำดับ